8 พฤษภาคม 2020

โดย : รุ้งตะวัน อ่วมอินทร์

โรงพยาบาลที่มีผู้คนเข้าออกอยู่ตลอดเวลา พลุกพล่านไปด้วยเจ้าหน้าที่ คุณหมอ ที่ยังคงทำหน้าที่อย่างไม่หยุดพัก รวมถึงผู้ป่วยที่รอคอยการรักษาและเยี่ยวยาอาการทางกาย วันที่ญาติไม่สามารถเคียงข้างผู้ป่วยได้อีกต่อไป แม้เสียงภายในโรงพยาบาลไม่เคยเงียบ ทั้งเสียงฝีเท้า เสียงพูดคุย เสียงเครื่องมือแพทย์ แต่เสียงของความเหงา และความโดดเดี่ยวของผู้ป่วยที่นอนรอการรักษาในโรงพยาบาลแห่งนี้กลับเงียบงัน มีเพียงแต่แววตาแห่งการรอคอยและความรู้สึกที่เพรียกหาการดูแลจากคนที่รักอีกครั้งหนึ่ง เพราะความเจ็บป่วยไม่ใช่แค่เรื่องของทางกายแต่ยังเป็นเรื่องของทางใจ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการนอนโรงพยาบาลของป้าก็จริง แต่เป็นครั้งแรกของป้าและคนไข้หลายคนที่ต้องนอนโรงพยาบาลในช่วงการระบาดของไวรัส COVID-19 

ฉันรีบมาโรงพยาบาลแต่เช้า เพราะรู้ดีว่าขณะนี้โรงพยาบาลมีมาตรการลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อให้กับผู้ป่วย1  เริ่มตั้งแต่กระบวนการคัดกรองคนเข้าโรงพยาบาลทุกคนด้วยการวัดอุณหภูมิ ซักประวัติ ไม่ใช่ฉันคนเดียวที่มีความจำเป็นต้องมาโรงพยาบาล แต่ยังมีเพื่อนตกทุกข์แบบเดียวกันกว่าพันรายต่อวัน บัตรคิวรันมาถึงหลักพันตั้งแต่แปดโมงเช้า ฉันรับบัตรคิว นั่งรออย่างมีระยะห่าง ใส่หน้ากาก รอวัดไข้และซักประวัติ

นั่งๆ ห่างกัน หนึ่งในแนวทางการเว้นระยะในโรงพยาบาล

“นา แม่อยู่นี่ นาเอ้ย นา” เสียงร้องเรียกแผ่วเบาของป้าเตียงแรกที่นอนด้านซ้ายสุดของวอร์ดอายุรกรรมเฉพาะทาง ร้องสื่อสารกับใครสักคนที่ไม่ได้อยู่ตรงนั้น แกส่งเสียงเรียกเป็นระยะและยกมือข้างซ้ายโบกไปมาคล้ายกับส่งสัญญาณว่าหากสุ่มเสียงที่เปล่งออกมานั้นเบาเกินไป ก็คงจะมีสัญญาณมือที่โบกไหวอยู่นี้ ที่พอทำให้มีใครได้แลเห็น 

แกนอนตะแคงขวาบนเตียงในชุดคนไข้แอดมิทสีฟ้าที่ยับยู่ แขนขวามีสายระโยงระยางจากเครื่องมือแพทย์ที่ตั้งอยู่ชิดกับเตียง ฉันไม่รู้ว่าแกป่วยด้วยโรคอะไร แต่คนไข้ในวอร์ดนี้ ก็คงไม่พ้น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต และโรคเบาหวาน

“ยาย เขาห้ามเยี่ยมนะยาย ยายรีบหายนะ จะได้กลับบ้านไวๆ” พยาบาลสาวเดินมาปลอบ หวังให้แกคลายกังวล และชำเลืองมาที่ฉันพร้อมกล่าวย้ำถึงระเบียบการเยี่ยมในช่วงโควิดระบาดกับฉันอีกครั้งว่า “ในช่วงนี้โรงพยาบาลมีนโยบายห้ามเยี่ยม ห้ามเฝ้า ให้ใช้โทรศัพท์คุยกันแทน หากมีอะไรจำเป็นเร่งด่วนพยาบาลจะโทรไปแจ้งเป็นรายๆ ไป” ฉันพยักหน้ารับทราบ

ป้าของฉันนอนอยู่บนเตียงฝั่งตรงกันข้าม ธรรมดา ป้าของฉันเป็นคนรักสวยรักงาม ความป่วยไข้ด้วยโรคไตทำให้ร่างกายของแกเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่าง ผิวที่เคยเนียนละเอียดกลับดำคล้ำ แห้งสาก ผมที่เคยดัดสลวย ก็ขาดร่วงจนแหว่งบาง ยังไม่รวมอาการอื่นที่อันตรายอย่างความดันโลหิตสูงๆ ต่ำๆ เวียนศีรษะ หน้ามืด ไม่มีเรี่ยวแรง

เป็นเวลาห้าวันห้าคืนแล้วที่ป้าของฉันต้องนอนค้างที่โรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังและมีภาวะความดันโลหิตต่ำ “วัดความดันทั้งคืน พอจะหลับ พยาบาลก็มา นอนไม่เต็มตื่น เดี๋ยวคนโน้นร้อง เดี๋ยวคนนี้ร้อง นี่…ความดันขึ้นมาบ้างแล้ว ฉันไม่ได้ลงจากเตียงเลย หมอเขากลัวฉันล้ม นั่งๆ นอนๆ อยู่แต่บนเตียง ขืนอยู่นาน ขาฉันจะพาเดินไม่ได้ แกเข้าไปดูมะม่วงในสวนไหม ป่านนี้โดนขโมยหมดไปแล้วก็ไม่รู้” ป้าของฉันพูดรัวเหมือนอัดอั้นมาตลอดคืน ทั้งเรื่องอาการและความห่วงมะม่วงน้ำดอกไม้ที่แก่จัดในสวน

ตั้งแต่ฉันเข้ามาในวอร์ด ฉันก็รู้สึกว่า ป้าคนไข้เตียงถัดไป จ้องมาที่ฉัน สายตาเย็นชา แน่วนิ่ง ทำให้ฉันไม่รู้ว่าจะสื่อสารกลับไปอย่างไร ไม่ช้าป้าคนนี้ก็ครางฮือคร่ำครวญระงม “ทำไมลูกไม่มาหาแม่บ้าง อยู่ใกล้แค่นี้เอง เขายังเข้ามาได้เลย” ป้า พูดออกมาปนเสียงสะอื้น

ฉันตกใจ และคิดว่าตนเป็นต้นเหตุที่สร้างความสะเทือนใจให้ป้าเตียงถัดไป แต่ฉันก็ไม่อาจจะทำอะไรได้มากไปกว่าปล่อยให้เสียงเรียกและเสียงร่ำไห้ของป้าทั้งสองคนดังต่อไป

ป้าของฉันเลี่ยงบาลีตอบว่า “แกเอาของล้างไตมาให้ฉัน แกต้องมาได้ มาแป๊ปนึงก็ยังดี” ฉันรู้ได้ทันทีว่า ป้าไม่ปรารถนาที่จะให้ฉันเคร่งครัดในกติกาห้ามเยี่ยมนัก ป้ากล่าวเสริมอีกว่า “แกไม่ต้องกลัวหรอก โค-วง โค-หวิด ฉันสวดมนต์ให้แกแคล้วคลาดแล้ว” 

ฉันนิ่งฟังป้าเล่าเรื่องจิปาถะ และใช้เวลาเยี่ยมได้อีกเพียงสิบกว่านาที พยาบาลก็ส่งสัญญาณให้รู้ว่า ถึงเวลาต้องกลับแล้ว ภารกิจการมาเยี่ยมไข้ของฉัน นอกจากจะช่วยเหลือให้ป้าได้ถ่ายหนัก ถ่ายเบาบนเตียงแล้ว ฉันก็ทำหน้าที่จัดหาของใช้จำเป็นและของที่คนไข้อยากได้ เช่น น้ำดื่ม น้ำแข็ง ยาดม ผลไม้ ฯลฯ 

“พรุ่งนี้ แกหยิบตาชั่งและน้ำหอมขวดสีแดงมาด้วยนะ” ฉันเข้าใจดีว่า ตาชั่งต้องเอามาชั่งน้ำยาเวลาล้างไตทางหน้าท้องที่ป้าต้องล้างถึงวันละ 4 ครั้ง แต่ เอ…น้ำหอม… เอามาทำไม 

“แกไม่รู้อะไร ฉันนอนจมเหงื่อแบบนี้ ตัวเหม็น อายหมอ” ป้าพลางหยิบชายเสื้อขึ้นสูดดม แล้วทำหน้าเบ้ ไม่พอใจในกลิ่นคนไข้นอนซมเตียง ฉันอาจไม่เห็นด้วยว่ายามป่วยหนักแบบนี้ ป้ายังจะเรียกหาน้ำหอม แต่นั่นแล ฉันจะทำอะไรได้ นอกจากรับคำ เพื่อวันพรุ่งจะได้จัดหามาให้ป้าผู้ป่วยไข้ได้ตามความประสงค์ 

ฉันกลับมาคิดต่อ ในฐานะที่พาทหนึ่งฉันเป็นผู้ดูแลป้าที่นอนแอดมิทในโรงพยาบาล และฉันก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการ Social Distancing  ของโรงพยาบาล 

โดยรวมการแอบมาเยี่ยมของฉัน เพียงแค่ช่วยให้ป้าคลายกังวล คลายความรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ไม่ได้ต่อสู้กับโรคภัยเพียงลำพัง แต่ยังมีญาติที่เห็นอกเห็นใจและพร้อมให้ความช่วยเหลือ 

แต่ในกรณีของป้าอีกสองคนที่ร้องเรียกลูก ที่คร่ำครวญถึงลูกล่ะ เราจะมองเรื่องนี้อย่างไร

อาเธอร์ ไคล์นแมน (Arthur Kleinman) นักจิตวิทยาและนักมานุษยวิทยาการแพทย์แห่งมหาวิทยาฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ได้มีประสบการณ์ในการดูแล “โจแอน” (Joan Andrea Ryman Kleinman) ภรรยาที่ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์และสูญเสียการมองเห็น

ไคล์นแมนให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการดูแลภรรยาของเขาว่า “การดูแล คือ ความรัก ผมช่วยเธอตั้งแต่พาเธอลุกออกจากเตียง พาเธอไปห้องน้ำ อาบน้ำ แต่งตัว ป้อนข้าว การดูแลเธอทำให้ผมรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับเธอ ช่วงแรกที่ผมเริ่มเรียนรู้ที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้เธอ มันทำให้เธอรู้สึกดีขึ้นมาก  และผมคิดว่าการดูแลเธอก็มีส่วนที่ทำให้ผมมีจิตใจที่เข้มแข็ง มันตอกย้ำถึงความรักและความมุ่งมั่นที่ผมมีต่อเธอ ภาวะอัลไซเมอร์ของเธอ ทำให้เธอเพ้อ เธอจำผมไม่ได้ แต่เธอก็ไม่หวาดระแวง นั่นเป็นเพราะความรู้สึกที่ส่งผ่านการดูแลเอาใจใส่ของผมส่งต่อไปถึงเธอได้ แม้ว่าเธอจะมองไม่เห็นและไม่เข้าใจ”2

ดร.ไคล์นแมนและโจแอนภรรยาของเขา (Credit: Torben Eskerod) ที่มาของภาพ: kffhealthnews

ไคล์นแมน ดูแลโจแอนหลายปีจนกระทั่งเธอเสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2011 ประสบการณ์ในช่วงเวลานั้นยังช่วยให้เขาขยายแนวคิดเรื่องการดูแลเอาใจใส่ (caregiving) ไคล์นแมน เห็นว่า ผู้ดูแลเอาใจใส่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเท่านั้น หากแต่เป็นใครก็ได้ที่มีความทุ่มเทและใส่ใจดูแล ใช้เวลาทำงานช่วยเหลือผู้ทนทุกข์จากความเจ็บป่วย ไคลน์แมนเห็นว่าบทบาทของผู้ดูแลคือผู้ที่เปี่ยมไปด้วยความรัก เช่น ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน และหล่อเลี้ยงศีลธรรม งานการดูแลเอาใจใส่จึงเป็นประสบการณ์ทางศีลธรรมที่สะท้อนกลับมานิยามตัวตนของผู้ดูแลอีกด้วย ภารกิจของผู้ดูแลคือการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย และร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความทุกข์ของเขาเหล่านั้น ภารกิจของผู้ดูแลจึงมีความสำคัญต่อความเป็นมนุษย์ทั้งของผู้ดูแลและผู้ป่วย เพราะเป็นงานที่สัมพันธ์กับการยอมรับ การตระหนัก การช่วยเหลือ ความรับผิดชอบ ความเป็นหนึ่งเดียว การกระทำเชิงอารมณ์และการปฏิบัติ ที่ล้วนมีส่วนทำให้ชีวิตมีความหมาย3 

จากเรื่องการดูแลเอาใจใส่ของไคล์นแมน ทำให้ฉันเห็นว่า การดูแลเอาใจใส่เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น 

ในยามป่วยไข้ร่างกายมีภาวะเปราะบางอย่างยิ่งนี้  ผู้ป่วยต้องทนทุกข์ต่อสู้กับโรคภัยอยู่ในโรงพยาบาลเพียงลำพัง ในบางรายอาจใช้เวลาแอดมิทในโรงพยาบาลยาวนานหลายวัน แม้ว่ามาตรการเว้นระยะ(Social Distancing) ที่นำมาใช้ในโรงพยาบาลจะเป็นไปเพื่อลดการระบาดของไวรัส COVID-19 แต่ในอีกทางหนึ่งก็ได้สร้างระยะห่างระหว่างผู้ป่วยและญาติมิตร ความโดดเดี่ยว อ้างว้าง ไม่มีญาติมิตรที่ใกล้ชิดห่วงใยมาเยี่ยมเป็นกำลังใจและเฝ้าดูแล ย่อมมีผลต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วยให้หดหู่ทุกข์ระทมลงไปอีกไม่มากก็น้อย คนไข้กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มเปราะบางทางสังคมกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระเทือนจากมาตรการ social distancing

บรรณานุกรม

กรมการแพทย์. (2563). กรมการแพทย์ได้จัดทำแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย ในช่วง covid-19. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563, ที่ http://covid19.dms.go.th/?StartWeb=1

Kleinman, Arthur and Van der Geest, Sjaak. (2009). Care in health care: Remaking the moral world of medicine. Mediche Anthropologies. 21(1): 159-168. อ้างใน ประชาธิป กะทา. (มปป). การดูแลเอาใจใส่ในฐานะประสบการณ์ทางศีลธรรม. เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 จาก www.academia.edu

PBS NewsHour. (2010). Arthur Kleinman on Caregiving. Retrieved 5 May 2563 from www.pbs.org/wnet/religionandethics/2010/10/01/october-1-2010-arthur-kleinman-on-caregiving/7146/ 

เชิงอรรถ

1  กรมการแพทย์ได้จัดทำแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย ในช่วง covid-19 สืบค้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563, ที่ http://covid19.dms.go.th/?StartWeb=1

2  PBS NewsHour. (2010). Arthur Kleinman on Caregiving. Retrieved 5 May 2563 from www.pbs.org/wnet/religionandethics/2010/10/01/october-1-2010-arthur-kleinman-on-caregiving/7146/

3  Kleinman, Arthur and Van der Geest, Sjaak. (2009). Care in health care: Remaking the moral world of medicine. Mediche Anthropologies. 21(1): 159-168. อ้างใน ประชาธิป กะทา. (มปป). การดูแลเอาใจใส่ในฐานะประสบการณ์ทางศีลธรรม. เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 จาก www.academia.edu

ผู้ดูแลระบบและจัดการเนื้อหา โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)