ปี พ.ศ. 2564 เป็นปีที่เราต้องเผชิญกับความท้าทาย สับสน และไม่แน่นอน ในปีที่ผ่านมา การระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้สิ่งที่เคยเป็นเรื่องปกติ กลับกลายเป็นความท้าทาย บ้านกลายเป็นที่ทำงาน สุขภาพกับเสรีภาพกลายเป็นสิ่งที่เราต้องเลือก การอยู่ห่างๆ คือความห่วงใย ความเป็นปกติธรรมดากลายเป็นความปกติใหม่ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่เราก็ต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัวไปพร้อม ๆ กัน เรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้านี้ หากไม่มีการจดบันทึกและเก็บข้อมูลไว้อย่างเป็นระบบก็มักจะถูกลืมเลือนไป โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์การระบาดคลี่คลายไปแล้ว

โครงการจัดทำคลังข้อมูลจดหมายเหตุดิจิทัล โควิด-19 (Covid-19 Digital Archive) โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) เกิดขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเก็บรวบรวมและติดตามบันทึกเหตุการณ์ ประสบการณ์ บทเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ข้อมูลต่างๆ ของโครงการ ที่ได้รับการบันทึกในรูปแบบต่างๆ ทั้งข้อเขียน ภาพถ่าย เสียง วิดีโอ ฯลฯ จะจัดทำเป็นคลังจดหมายเหตุออนไลน์ เพื่อประโยชน์ในการค้นคว้าและศึกษาวิจัยต่อไป

ข้อมูลจากการดำเนินงานของโครงการ ได้มาจากการทำงานในสามส่วนหลักคือ

  1. โครงการโควิดสตอรีส์ (COVID-19 STORIES) มีจุดมุ่งหมายเพื่อเก็บบันทึกประสบการณ์ที่ผู้คนหลากหลายเผชิญกับภัยโควิด ด้วยการรวบรวมเรื่องราว ข้าวของ ความรู้สึกนึกคิดและการใช้ชีวิตในเวลาแห่งความสับสนวุ่นวายนี้ โดยเปิดช่องทางออนไลน์เชิญชวนบุคคลทั่วไป มาร่วมเก็บความทรงจำการเผชิญหน้ากับโควิด 19 ด้วยการส่งภาพถ่าย ภาพวาด คลิปวิดีโอ บันทึก จดหมาย ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่มีความหมายต่อตนเอง ผ่านทางหน้าเว็บไซต์โครงการฯ(ทำลิงค์ตรงไปนี้หน้าsubmitโควิดสตอรีส์ หรือทำปุ่ม “ส่งเรื่องราวของท่าน” ตรงด้านล่างของย่อหน้านี้)
  2. โครงการวิจัย “โควิด-19กับสังคมไทย: บันทึกวิกฤติและประสบการณ์การรับมือไวรัสโคโรนา” (COVID-19 in Thai Society: Documenting Coronavirus Crisis and Epidemic Responses) มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บรวบรวมและติดตามบันทึกเหตุการณ์ ประสบการณ์และบทเรียนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเพื่อสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงระบบและนโยบายโดยอาศัยหลักฐานเชิงประจักษ์ในการรับมือการระบาดและคลี่คลายผลกระทบของวิกฤติการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป โดยจะเป็นการติดตามวิธีปฏิบัติงานและข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและพื้นที่ที่มีมาตรการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 กลุ่มคนที่ศึกษาได้แก่ ผู้บริหารและผู้สร้างนโยบาย บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ควบคุมโรค กลุ่มเปราะบาง ผู้ที่ได้รับผลกระทบ และประชาชนทั่วไป โดยจะบันทึกประสบการณ์ชีวิต ความคิด ความรู้สึก พฤติกรรม การปฏิบัติงาน และปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด-19โครงการได้รับทุนอุดหนุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564ระยะเวลาดำเนินการ 1 มีนาคม 2564 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2565 รวมระยะเวลา 12 เดือน
  3. โครงการมานุษยวิทยาในสถานการณ์โรคระบาด “โรคเปลี่ยนคน คนเปลี่ยนโลก” ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้สนับสนุนให้นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาและสาขาที่เกี่ยวข้อง นำเสนอบทความที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยในการเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 และได้รับข้อเสนอเป็นจำนวนมากถึง 383 เรื่องจากหลากหลายสาขาวิชา สะท้อนถึงความตื่นตัวของแวดวงวิชาการด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับวิกฤตในครั้งนี้ ทั้งนี้ได้มีการพิจารณาคัดเลือกและให้ทุนข้อเสนอบทความจำนวน 30 เรื่อง ทั้งในมิติของปรัชญา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี แนวคิดทฤษฎีทางสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา นโยบายสาธารณะ ระบบสาธารณสุข วัฒนธรรมท้องถิ่น ศิลปะ และประสบการณ์ของผู้คน ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ