12 พฤษภาคม 2023

การระบาดของไวรัสโควิด-19 กว่า 2 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ‘บุคลากรด่านหน้า’ คือกลุ่มบุคคลสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์โรคระบาด ทว่าหลังจากผ่านระยะเวลาการทำงานอันตรากตรำมาอย่างยาวนานแล้ว สวัสดิภาพของบุคลากรเหล่านี้เป็นอย่างไร พวกเขาต้องพบเจออะไรบ้าง หรือได้รับความดูแลมากน้อยแค่ไหนในการปฏิบัติงาน คำถามเหล่านี้น้อยครั้งนักที่จะถูกถามกลับไปหลังการระบาดเริ่มกลายเป็นเรื่องชาชินของสังคม

จากจุดตั้งต้นของคำถามเหล่านี้ ทำให้มีผู้เก็บบันทึกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรด่านหน้าท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด ในงานศึกษาที่ชื่อ ‘ประสบการณ์ของบุคลากรทางการแพทย์และการใส่ใจดูแล ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19’ ของ ชัชชล อัจนากิตติ ได้แบ่งประสบการณ์ของบุคลากรด่านหน้าเอาไว้เป็น 2 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ต้องเผชิญกับความไม่พร้อมในการสนับสนุนของภาครัฐในหลายๆ ด้าน ขณะที่กลุ่มที่สอง จะเป็นการศึกษาที่ลงลึกไปถึงระดับจิตใจ เนื่องจากบุคลากรจำนวนมากต้องเผชิญกับความท้าทายทางอารมณ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนมากมักไม่ได้รับการโอบอุ้มที่เหมาะสมโดยหน่วยงานใดเลย

ชัชชล อัจนากิตติ

ดังนั้นการย้อนกลับไปมองจุดผิดพลาดที่ถูกหลงลืมไประหว่างทางอาจช่วยให้เกิดการทบทวนและแก้ไข เพราะอย่างน้อยหากมองไปให้ไกลกว่าคำว่าความเป็นธรรมแล้ว สังคมไทยอาจจะคลำเจอจุดที่ควรแก้ไขเพื่อเตรียมรับมือกับภัยอุบัติใหม่อื่นๆ ในอนาคตได้ และทำให้บุคลากรด่านหน้าผู้มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้อื่นถูกรองรับเอาไว้ไม่ให้ร่วงหล่นไปมากกว่าที่ผ่านมา

ถ้าบุคลากรด่านหน้าคือนักรบชุดขาว ภาครัฐก็ส่งเขาไปรบโดยไร้อาวุธ

คำร่ำลือที่ว่าระบบสาธารณสุขไทยมีความเข้มแข็งนั้นมีความจริงอยู่ ทว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า การปล่อยให้ระบบสาธารณสุขดำเนินไปด้วยตนเองเพียงอย่างเดียวนั้นอาจไม่เพียงพอที่จะรับมือวิกฤติได้ทั้งหมด แต่ระบบอื่นๆ ของภาครัฐก็จำเป็นต้องเข้าไปให้การสนับสนุนอย่างเหมาะสมด้วย

ปัญหาแรก นอกจากจำนวนงานที่มากกว่าจำนวนบุคลากรแล้ว ยังมีอุปสรรคเรื่องการขาดแคลนงบประมาณในการหล่อเลี้ยงขวัญกำลังใจของบุคลากร เนื่องจากการเพิ่มจำนวนเวรหรือภาระงานเป็นสิ่งจำเป็นในการรับมือโรคระบาดเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ ดังคำให้สัมภาษณ์ของแพทย์ประจำบ้านด้านอายุรศาสตร์ (สัมภาษณ์ ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2564) ระบุว่า ปกติจำนวนเวรต่อเดือนจะอยู่ที่ 5-6 เวร แต่ในช่วงการระบาดจะขยับขึ้นมาเป็น 9-10 เวรต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ซึ่งค่าตอบแทนสำหรับการทำงานล่วงเวลาก็มีความล่าช้าจนทำให้ผู้ปฏิบัติงานเสียกำลังใจ ดังคำให้สัมภาษณ์ของนักเทคนิคการแพทย์รายหนึ่ง ระบุว่า ยังไม่ได้ค่าตอบแทนสำหรับงานล่วงเวลามาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 และยอมรับว่าทุกวันนี้ต้องใช้ความอดทนในการทำงานสูงมาก เนื่องจากการทำงานไปตามความเคยชิน มีผลให้ความรักในการทำงานค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ (สัมภาษณ์ ณ วันที่ 22 เมษายน 2564)

นอกเหนือไปจากการจัดการกำลังคนหรืองบประมาณค่าตอบแทนที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์แล้ว หากศึกษาจากประสบการณ์ของบุคลากรด่านหน้าจำนวนมาก ยังค้นพบอีกว่าหลายกรณีต้องประสบกับเหตุการณ์ที่คล้ายกัน คือการขาดวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำงาน รวมไปถึงขาดสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างองค์ความรู้ที่ถูกต้องจากภาครัฐอีกด้วย

ช่วงแรกของการระบาดในต้นปี 2563 ประเทศไทยขาดแคลนหน้ากากอนามัยเป็นอย่างมาก จนทำให้บุคลากรด่านหน้าจำเป็นต้องผลิตหน้ากากผ้าแบบอบฆ่าเชื้อมาใส่ก่อน เพื่อให้ใช้งานซ้ำได้ รวมไปถึงการทำแผ่นพลาสติกกั้นระหว่างบุคคลและอุปกรณ์ที่จำเป็นตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ซึ่งถูกทำขึ้นเองอย่างง่ายๆ 

นอกเหนือจากนั้น น้ำยาฆ่าเชื้ออย่างแอลกอฮอล์ที่ต้องมีความเข้มข้นเกินร้อยละ 70 ขึ้นไป ในระยะแรกก็เกิดภาวะขาดแคลนด้วยเช่นกัน หากอ้างอิงจากคำให้สัมภาษณ์ของพยาบาลในโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งที่ไม่ระบุนาม จะพบว่าช่วงระยะเวลาดังกล่าวโรงพยาบาลจะต้องผลิตแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อขึ้นมาใช้เองเกือบทั้งหมด และปัญหาสำคัญที่ตามมาคือ โรงพยาบาลหลายแห่งเข้าไม่ถึงเครื่องมือวัดแอลกอฮอล์ซึ่งขาดตลาดด้วยเช่นกัน จนกลายเป็นความวุ่นวายทั่วทุกพื้นที่ (สัมภาษณ์ ณ วันที่ 14 มีนาคม 2564) แน่นอนว่า นอกจากหน้ากากอนามัยจะขาดตลาดแล้ว ถัดจากนั้นการขาดแคลนชุด PPE ก็กลายเป็นปัญหาใหม่ตามมาทันที

นอกจากอุปกรณ์สำหรับป้องกันแล้ว อุปกรณ์ที่มีความสำคัญกับผู้ป่วยก็ขาดแคลนเช่นเดียวกัน อาทิ ห้องความดันลบ ยา หรือเครื่องช่วยหายใจ จนทำให้ประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยลดลงเป็นอย่างมาก หากอ้างอิงตามคำให้สัมภาษณ์ของแพทย์ประจำบ้านด้านอายุรศาสตร์รายหนึ่ง การขาดแคลนเช่นนี้ส่งผลให้ผู้ป่วยบางรายเมื่อมาถึงโรงพยาบาลแต่ไม่ได้รับยารักษา ก็นำไปสู่การเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเช่นเดียวกัน (สัมภาษณ์ ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2564) 

ในส่วนของการกระจายข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐ งานศึกษาระบุว่า แพทย์ไม่สามารถรอข้อมูลข่าวสารที่มีลักษณะเป็นทางการได้ เนื่องจากมีความล่าช้าเกินกว่าสถานการณ์ ดังนั้นบุคลากรด่านหน้าจำนวนมากจึงต้องพึ่งพาข้อมูลข่าวสารจากโซเชียลมีเดีย ก่อนจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาศึกษาเพิ่มเติมเองเพื่อหาความถูกต้อง และหากเกิดการนำเสนอแล้วไม่มีผู้ทักท้วงก็จะยึดถือข้อมูลนั้นไว้สำหรับใช้ในการทำงานต่อไป สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงข้อมูลของไวรัสเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงชุดข้อมูลพื้นฐานที่ภาครัฐควรจัดหาให้ อย่างวิธีการสวมใส่ชุด (ที่ได้มาจากการบริจาค) โดยมักเป็นข้อมูลที่ได้มาจากแฟนเพจ Facebook ของบุคลากรด่านหน้าคนอื่นๆ อีกที 

ในลักษณะนี้ จึงกลายเป็นการเพิ่มภาระให้แก่บุคลากรด่านหน้าเป็นอย่างมาก รวมไปถึงการทำให้บุคลากรด่านหน้าต้องทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบหรือคัดกรองข้อมูลเท็จออกไปจากระบบเอง สภาวะความกดดันและความกลัวจากการขาดแคลนอุปกรณ์ องค์ความรู้ และการสนับสนุนอื่นๆ จากภาครัฐ จึงกลายเป็นความท้าทายทางอารมณ์ที่จะอธิบายในหัวข้อถัดไป

ความกลัวและแรงกดดันที่บุคลากรด่านหน้าต้องแบกรับ

การศึกษามุมมองความเป็นมนุษย์ของบุคลากรด่านหน้า นับเป็นอีกมิติหนึ่งที่ช่วยสะท้อนได้ว่า พวกเขามองหรือตัดสินใจอย่างไรในสถานการณ์สำคัญ และยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้นหากสังคมไทยต้องการที่จะเตรียมความพร้อมของระบบดูแลบุคลากรทางการแพทย์สำหรับวิกฤติครั้งหน้าให้มากกว่านี้ 

สืบเนื่องมาจากหัวข้อก่อนหน้า การขาดแคลนทรัพยากรจำนวนมากไม่เพียงแต่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานเท่านั้น หากยังส่งผลโดยตรงต่อสภาพจิตใจของบุคลากรด่านหน้าอย่างมาก ตัวอย่างหนึ่งจากคำให้สัมภาษณ์ของแพทย์ประจำบ้านด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินรายหนึ่ง ระบุว่า หากผู้ป่วยบางรายมีอาการหนักมากจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ อาจจะต้องเลือกว่าใครควรจะได้เตียง ICU ไป เพราะแต่ละเตียงต้องใช้ทรัพยากรสูงมาก เช่น ต้องมีพยาบาลเฝ้า 1 คน ต่อ 1 เตียง และไม่ใช่ว่าพยาบาลทุกคนจะมีทักษะในการดูแลผู้ป่วย ICU เหมือนกันหมด ทำให้หลายครั้งต้องแจ้งกับญาติของผู้ป่วยว่า ผู้ป่วยบางรายอาจจะ ‘ไปต่อไม่ไหว’ (สัมภาษณ์เมื่อ 10 สิงหาคม 2564)

นอกจากความกดดันในลักษณะดังกล่าว อารมณ์ที่ผุดขึ้นมาในหมู่บุคลากรด่านหน้ามากที่สุดอารมณ์หนึ่งคือ ความกลัว โดยคำให้สัมภาษณ์ของพยาบาลในโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง ระบุว่า อาสาสมัครบางคนในพื้นที่มีความคิดที่จะลาออก เนื่องจากมีความกังวลว่าจะติดเชื้อ จนทำให้พยาบาลคนดังกล่าวต้องออกไปลงพื้นที่บริเวณจังหวัดปราจีนบุรีแทน (สัมภาษณ์ ณ วันที่ 14 มีนาคม 2564)

หลังจากความกลัวพัดผ่านไปพร้อมการระบาดระลอกแรก จนกระทั่งเกิดการระบาดอย่างรุนแรงขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปี 2563 ก็ส่งผลให้บุคลากรด่านหน้าแทบไม่สามารถมีเวลาส่วนตัวหรือได้ออกไปไหนนอกจากสถานที่ทำงาน งานศึกษาได้ระบุว่า ช่วงระยะเวลาดังกล่าวทำให้บุคลากรจำนวนมากรู้สึกโดดเดี่ยวและซึมเศร้า โดยเฉพาะกับกรณีที่ผู้ป่วยสูงอายุเสียชีวิตโดยไม่ได้พบหน้าญาติเป็นครั้งสุดท้าย เนื่องจากญาติไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้และไม่มีทักษะด้านเทคโนโลยี จนทำให้บุคลากรด่านหน้าบางรายเกิดความรู้สึกไม่อยากไปทำงาน และเครียดอยู่ตลอดเวลา

ความกลัว ความเครียด ความโดดเดี่ยว และสภาวะซึมเศร้าเหล่านี้ มีผลโดยตรงกับขวัญกำลังใจและประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากรด่านหน้า ซึ่งสุดท้ายสาเหตุก็มาจากการขาดทรัพยากรของรัฐ ขณะเดียวกันการเยียวยาก็ยังไม่เกิดขึ้น จุดนี้เองทำให้พบว่าประเทศไทยขาดระบบดูแลสภาพจิตใจของบุคลากรสาธารณสุข โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโรคระบาดที่ต้องใช้แรงกายและแรงใจของบุคลากรด่านหน้าอย่างสูง แต่กลับไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ แม้ว่า ณ ปัจจุบันการระบาดของโควิด-19 จะยังไม่จบลงก็ตาม แต่คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า สภาพจิตใจของบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่เกี่ยวข้อง อาสาสมัคร และบุคลากรด่านหน้าอื่นๆ ต่างถูกบั่นทอนลงอย่างมาก และอาจจะส่งผลต่อการรักษาขวัญกำลังใจในระยะต่อไปหากเกิดภัยพิบัติครั้งใหม่ในอนาคต

ทบทวนและพัฒนาระบบ ‘Care’ ที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง 

หากยึดตามงานศึกษาของชัชชลแล้ว จะพบว่าบุคลากรที่มีหน้าที่ใส่ใจดูแลผู้อื่นอย่างบุคลากรทางการแพทย์ และบุคลากรด่านหน้าในสภาวะวิกฤติ ไม่เพียงต้องเสียสละทั้งแรงกายแรงใจ หากยังต้องอาศัยทรัพยากรมหาศาล ทั้งเวลา พลังงาน และค่าใช้จ่ายจำนวนมากอีกด้วย ในแง่นี้จึงหมายความว่าหากรัฐไม่มีการเติมทรัพยากรทั้งหลายที่กล่าวไปข้างต้นให้แก่บุคลากรด่านหน้าอย่างเพียงพอ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานย่อมจะลดลงไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สภาวะเหนื่อยล้าสะสมจากภาระงานที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงระยะเวลาของการระบาด ทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความเครียดสูง โดยเฉพาะหากเจ้าหน้าที่รู้สึกว่าวิชาชีพของตนเองไม่ได้รับการมองเห็นหรือถูกใส่ใจมากเท่าที่ควร สิ่งเหล่านี้อาจนำไปสู่การย้ายไปทำงานในภาคส่วนอื่น หรือกรณีที่เลวร้ายที่สุดอาจเกิดการลาออกจากงานได้เช่นเดียวกัน ทางแก้ไขปัญหาที่ชัชชลนำเสนอคือ การเตรียมวัสดุอุปกรณ์สำหรับการทำงานและทรัพยากรบุคคลให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน แน่นอนว่านอกเหนือไปจากการสนับสนุนทางกายภาพดังที่กล่าวไปแล้ว ชัชชลยังเสนอว่าควรมีระบบให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้ารับคำปรึกษาในทางสุขภาพจิตได้ด้วย

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นบทพิสูจน์สำคัญที่ทำให้สังคมไทยได้รับรู้ว่า ระบบการดูแลและเอาใจใส่เจ้าหน้าที่ คนทำงาน และบุคลากรด่านหน้าในฝ่ายอื่นๆ ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ซึ่งชัชชลระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าระบบสาธารณสุขไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการรับมือสภาวะวิกฤติ แต่หมายถึงการมีโอกาสได้เรียนรู้ข้อบกพร่องร่วมกัน และพัฒนาศักยภาพของระบบสาธารณสุขไทยให้ดียิ่งขึ้น

ข้อควรคำนึงที่ภาครัฐในฐานะผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายจำเป็นต้องทบทวนต่อไปคือ การพัฒนาความพร้อมของระบบรับมือสภาวะฉุกเฉิน การสร้างนวัตกรรมทางสังคม การสร้างความยืดหยุ่นในการทำงาน ควบคู่ไปกับการดูแลสวัสดิภาพและสวัสดิการของบุคลากรผู้ทำงานจริง เพื่อให้เหมาะสมกับภาระและความรับผิดชอบของพวกเขา มิเช่นนั้นหากเกิดวิกฤติครั้งหน้าหรือภัยอุบัติใหม่ การไม่เตรียมความพร้อมที่จะใส่ใจดูแลบุคลากร อาจจะทำให้ไม่เหลือใครมาเป็น ‘ด่านหน้า’ ให้สังคมไทยอีกต่อไป 

อ้างอิง

ชัชชล อัจนากิตติ. ประสบการณ์ของบุคลากรทางการแพทย์และการใส่ใจดูแล ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

สนับสนุนโดย

ผู้ดูแลระบบและจัดการเนื้อหา โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)