17 กุมภาพันธ์ 2022

โดย : กมเลศ โพธิกนิษฐ และ ธนรัตน์ ทรงสมบูรณ์

“กลัวตายน่ะสิ แต่หยุดแล้วจะเอาอะไรกิน ลำพังขายของทุกวันๆ ก็แย่อยู่แล้ว ขายได้ก็พออยู่ ขายไม่ได้ก็ลำบากหน่อย แต่ถ้าจะไม่ให้ขายเลย ก็ตายอย่างเดียว” ลงสนามตลาดสดเทศบาลพิษณุโลกในช่วงที่รัฐออกมาตรการล็อกดาวน์และการเว้นระยะห่างทางสังคม ปี 2563 กลุ่มผู้ค้าตลาดสดฯ รับรู้ ตระหนัก และเข้าใจ และปรับตัวอย่างไร ให้รอดทั้งปากท้องและโควิด ในบทความวิจัยเรื่อง “การเว้นระยะห่างทางสังคม, ระยะห่างทางชนชั้น กับการกลายเป็นกลุ่มผู้มีสถานะรอง: กรณีศึกษากลุ่มผู้ค้าในตลาดสดในเขตเทศบาลพิษณุโลก” ศึกษาโดย ดร.กมเลศ โพธิกนิษฐ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก และ อ. ธนรัตน์ ทรงสมบูรณ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษา และเปิดเผยความสัมพันธ์เชิงอำนาจของแนวนโยบายการจัดการโรคโควิด-19 ของรัฐไทยกับการเกิดระยะห่างทางชนชั้น และการกลายเป็นกลุ่มผู้มีสถานะรอง ตลอดจนนำเสนอแนวทางการต่อสู้ต่อสภาวะดังกล่าวของกลุ่มผู้ค้าตลาดสดในเขตเทศบาลพิษณุโลก ในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) ร่วมกับการวิจัยเอกสาร บนพื้นฐานของกระบวนทัศน์เชิงวิพากษ์ (Critical paradigm) ด้วยข้อมูลจากเอกสารวิชาการ จากงานวิจัย และจากสื่อออนไลน์ ควบคู่กับการวิจัยภาคสนามด้วยการสังเกตุ และการสัมภาษณ์ ซึ่งกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลัก ได้แก่ กลุ่มผู้ค้าตลาดสดในเขตเทศบาลพิษณุโลก เลือกโดยวิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เพื่อหากลุ่มตัวอย่างรายแรก และต่อจากนั้นใช้วิธีการเลือกตัวอย่างแบบลูกโซ่ต่อไปอย่างน้อย 10 คน โดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหาเป็นแนวทางหลักในการวิเคราะห์ข้อมูล

ผลการศึกษา พบว่า มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ถือเป็นยุทธวิธีที่สำคัญประการหนึ่งซึ่งรัฐไทยดำเนินการเพื่อควบคุม และป้องกันโรคโควิด-19 โดยดำเนินการควบคู่กับกลไกการใช้อำนาจบังคับของรัฐ  เช่น การประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และการประกาศเคอร์ฟิว ในขณะเดียวกันก็ใช้กลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ ผ่านการผลิตสร้างชุดความรู้/ความจริงที่เรียกว่า มาตรการล็อกดาวน์ และแคมเปญ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนเก็บตัวอยู่ที่บ้าน ทำงานที่บ้าน และไม่ออกเดินทางไปไหนถ้าไม่จำเป็น

 แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวได้ทำให้เกิดระยะห่างทางชนชั้น (Class distancing) โดยส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตในกลุ่มชนชั้นกลางที่สามารถหยุดอยู่บ้านได้ในระดับน้อยมาก แสดงให้เห็นผ่านกิจกรรมการใช้ชีวิตระหว่างการกักตัวที่สะท้อนถึงรสนิยมของชนชั้นกลางตามฐานคิดแบบลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มชนชั้นล่าง หรือกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำกลับต้องประสบการปัญหาการดำเนินชีวิตอย่างหนัก ซึ่งเป็นผลมาจาก “การไม่ถูกนับรวม” (Exclusion) ให้อยู่มาตรการดังกล่าว และกลายเป็นกลุ่มผู้มีสถานะรองในที่สุด

กระนั้นก็ตาม บทความนี้เสนอว่า “ไม่มีใครถูกทำให้อยู่ในสถานะรองหรือถูกกดขี่อย่างถาวร” (Nobody can be subalterned or oppressed permanently) กรณีของกลุ่มผู้ค้าในตลาดสดในเขตเทศบาลพิษณุโลก สะท้อนถึงปรากฎการณ์ของการไม่ยอมจำนน การต่อต้าน ขัดขืน และต่อรองกับอำนาจรัฐที่ดำเนินไปใน 3 ลักษณะสำคัญ คือ 1) “การปฏิวัติความคิดของตนเอง” ผ่านการสร้างกระบวนการเรียนรู้ ด้วยประสบการณ์ และทักษะการเอาตัวรอดในชีวิตประจำวัน (Survival Skill) เพื่อปรับตัว และอยู่รอดภายใต้สภาวะการถูกทำให้อยู่ในสถานะรองนั้นๆ ผ่านการให้ความหมายของคำว่า “จิตสำนึกสาธารณะแบบปัจเจก” ที่เน้นไปถึง “ความรับผิดชอบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของครอบครัวพวกเขาเอง” 2) การใช้เครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมของกลุ่มผู้ค้าในตลาดสดฯ และ 3) การมี “จิตสำนึกใหม่” ผ่านฐานคิดเรื่องการดูแลสุขภาพตนเอง (Self-care) ที่เกิดจากการได้เรียนรู้ และตระหนักถึงอำนาจของตนเอง เพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัวให้ได้เหมือนเดิม “อย่างเป็นปกติ”

บทความนี้เสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและในเชิงปฏิบัติว่า ในการดำเนินนโยบาย หรือมาตรการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อคนในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นทางสุขภาพ การกำหนดนโยบายและกฎหมายที่มีลักษณะแบ่งแยกและกีดกัน หรือเลือกปฏิบัติ จะทำให้กลุ่มผู้มีสถานะรองเหล่านี้หลบหนี และหลบซ่อนในพื้นที่ที่ทางราชการไทยไม่สามารถเข้าไปได้ ภาวะดังกล่าวนี้จะทำให้การควบคุม และป้องกันโรค ขยายตัวลุกลาม และส่งผลกระทบไปในวงกว้างได้ ดังนั้น รัฐไทยไม่ควรดำเนินการเฉพาะมาตรการที่เน้นการบังคับ ควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำทางความคิดประชาชนเท่านั้น หากแต่ควรต้องจัดระบบบริการสุขภาพทั้งการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรคที่เหมาะสมตามหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อให้นโยบายหรือมาตรการของรัฐได้รับการตอบสนองจากประชาชนอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง

ความเป็นมา

นับตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2563 ที่ประเทศไทยยืนยันมีการพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายแรก โดยเป็นหญิงชาวจีน อายุ 61 ปี ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในนครอู่ฮั่นและได้เดินทางกับกลุ่มทัวร์จากนครอู่ฮั่นมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Cheung, 2020) รัฐไทยได้มีการกำหนดมาตรการการจัดการ และยับยั้งการระบาดของโรคดังกล่าวอย่างแตกต่างหลากหลาย อาทิเช่น การจัดระบบคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางมาจากประเทศจีนใน 6 สนามบินนานาชาติ หากพบผู้เดินทางเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค จะนำเข้าสู่ระบบเฝ้าระวัง ติดตาม, การประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548, การประกาศเคอร์ฟิว หรือห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถานทั่วประเทศในช่วงเวลาประมาณ 22.00-04.00 น. รวมถึงการแนะนำคนไทยปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันตัวเองและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โดยขอให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือมีมลภาวะ และไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยไอจาม การเชิญชวนประชาชนพกหน้ากากอนามัยจากผ้าไว้ติดตัวเพื่อป้องกันตนเองจากโรคติดต่อทางเดินหายใจ การแนะนำให้หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำ และสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และหมั่นตรวจตนเอง หากมีไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที (สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, 2563; BBC ไทย, 2020)

 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำหนดแนวนโยบายการจัดการโควิด-19 ตามมาตรการ “การเว้นระยะห่างทางสังคม” (Social distancing) ซึ่งเป็นวิธีคิดตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งถือเป็นความพยายามในการลดอัตราการแพร่ระบาดของไวรัสจากคนสู่คนในสังคม โดยมีหลักการที่สำคัญคือการสร้างระยะห่างระหว่างตนเองกับคนอื่นๆ ในสังคม หรือยืน-นั่งห่างกัน อย่างน้อย 1-2 เมตร รวมถึงการลดการออกไปนอกบ้านโดยไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะ การงดกิจกรรมทางสังคม การเรียนการสอนผ่านทางช่องทางออนไลน์ และการกักกัน หรือทำงานอยู่ที่บ้านให้มากที่สุด ตามนโยบาย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เป็นต้น (WHO, 2020; The straitstimes, 2020; Mandavilli, 2020; รัฐบาลไทย, 2563; โพสต์ทูเดย์, 2563)

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาแนวทางปฏิบัติกลับพบว่า การสร้างระยะห่างทางสังคมดังกล่าวไม่ได้หมายความครอบคลุมเพียงแค่ “ระยะห่างทางร่างกาย” หากแต่ยังเป็น “การสร้างระยะห่างทางชนชั้น” (Class distancing) ที่ว่าด้วยการกักตัวเองอยู่แต่ภายในบ้านนั้นกลับไม่ได้เอื้อต่อการกักกันโรคสำหรับทุกกลุ่มคน และไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถแบกรับกับสถานการณ์ที่ได้อย่างเทียมกัน โดยเฉพาะกับกรณีผู้ที่มีฐานะยากจน และและกลุ่มคนที่จำเป็นต้องหาเช้ากินค่ำแล้วอย่างกลุ่มผู้ค้าในตลาดสดแล้วด้วย เพียงแค่เอาตัวรอดในหนึ่งวันก็อาจจะเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องดิ้นรนอย่างหนัก การออกไปหารายได้จากนอกบ้านเป็นรายวันคือหนทางเดียวในการใช้ชีวิตอยู่ต่อไปอย่างปลอดภัยต่อปากท้องของตนเองและครอบครัวมากกว่าความปลอดภัยตามความหมายที่กำหนดไว้ในนโยบายของรัฐบาล (Ippoodom, 2020) นอกจากนี้ การกำหนดนโยบายแบบเลือกปฏิบัติ หรือไม่ครอบคลุม ยังเป็นการ “ผลัก” ให้กลุ่มคนดังกล่าวเข้าสู่มุมมืดของ “การกลายเป็นกลุ่มผู้มีสถานะรอง” (Subaltern) ที่ไม่ถูกนับรวมอยู่ในแนวนโยบายการจัดการโรคโควิด-19 ของรัฐไทยอีกด้วย (Quinley, 2020; แนวหน้า, 2563)

ทั้งนี้ ในประเด็นสุขภาพ ถือเป็นประเด็นเปราะบาง การละเลยต่อเสียงของกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของการเจ็บป่วย และสถานการณ์เรื่องสุขภาพของคนจน การกดทับปัญหา การไม่จัดการ เลือกปฏิบัติ หรือการปฏิบัติบนฐานคิดแบบอคติ จะก่อให้เกิดอำนาจของความเจ็บป่วย (Power of sickness) จะส่งผลกระทบต่อคนโดยทั่วไปในสังคมแบบไร้พรมแดน ในอีกด้านหนึ่ง ผลของการศึกษาที่ผ่านมาเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้มีสถานะรองพบว่า “ไม่มีใครถูกทำให้อยู่ในสถานะรองหรือถูกกดขี่อย่างถาวร” (Nobody can be subalterned or oppressed permanently) ซึ่งสามารถสะท้อนถึงการใช้อำนาจเหนือร่างกายของตนเองเป็นพื้นที่ของการต่อสู้ ต่อรอง และขัดขืน (Space of resistance) ต่อการการถูกทำให้อยู่ในสถานะรองของนโยบายด้านสุขภาพของรัฐไทยในสภาพที่ขึ้นอยู่กับเวลา, พื้นที่ และบริบททางสังคม (Time, space and social context) ที่ส่งผลกระทบต่อกันและกันในลักษณะของปฏิสัมพันธ์ได้เช่นกัน (กมเลศ  โพธิกนิษฐ, 2561, หน้า 8, 277)

 วัตถุประสงค์

บทความนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษา และเปิดเผยความสัมพันธ์เชิงอำนาจของแนวนโยบายการจัดการโรคโควิด 19 ของรัฐไทยกับการเกิดระยะห่างทางชนชั้น และการกลายเป็นกลุ่มผู้มีสถานะรองตลอดจนนำเสนอแนวทางการต่อสู้ต่อสภาวะดังกล่าวของกลุ่มผู้ค้าตลาดสดในเขตเทศบาลพิษณุโลก ในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 จนถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาปัจจุบัน

 กรอบแนวคิดเชิงทฤษฎี

แนวคิดผู้ถูกทำให้อยู่ในสถานะรอง (Subaltern) เป็นของอันโตนิโอ กรัมชี่ (Anotinio Gramsci) นักปรัชญาชาวอิตาเลียนได้รับอิทธิพลมาจากมโนทัศน์เรื่องชนชั้น (Class) และการจัดลำดับทางชนชั้น (Class categories) ของกลุ่มมาร์กซิสต์ดั้งเดิม (Conventional Marxism) (Modonesi, 2014, p. 9) ซึ่งเป็นการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างชนชั้นนายทุนและชนชั้นกรรมาชีพ ชนชั้นนายทุนคือกลุ่มผู้ปกครอง/กลุ่มผู้ครองอำนาจนำ โดยยึดครองถือครองปัจจัยการผลิต ตามหลักเศรษฐกิจกำหนด ตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม (Economic determinism) ซึ่งชนชั้นนายทุนได้แสวงหาประโยชน์ กดขี่ และขูดรีด (Exploitation) มูลค่าส่วนเกิน (Surplus value) จากวิธีแห่งการผลิต (Means of production) ของชนชั้นกรรมาชีพ และชนชั้นกรรมาชีพต้องต่อสู้ด้วยการปฏิวัติทางชนชั้น เพื่อปลดปล่อย และปลดแอกสังคม เพื่อก้าวสู่สังคมคอมมิวนิสต์ที่ไม่มีชนชั้นในท้ายที่สุด (วัชรพล พุทธรักษา, 2559, หน้า 11)

อย่างไรก็ตาม กรัมชี่ได้ตีความแนวคิดเรื่อง “ชนชั้น” แบบมาร์กซิสต์ดั้งเดิมในรูปแบบใหม่ โดยกรัมชี่เห็นว่า วิธีคิดแบบเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนด มีลักษณะการมองสังคมที่หยุดนิ่งเกินไป และทัศนะที่เชื่อว่าเศรษฐกิจเป็นแรงผลัก/ตัวแปรเดียว น่าจะเป็นการตีความที่ไม่ถูกต้องนัก เขาจึงได้พัฒนาต่อยอดจากการกดขี่ และขูดรีดทางเศรษฐกิจออกไป โดยให้ความสำคัญกับการครอบงำทางชนชั้นในมิติของอุดมการณ์ และจิตสำนึก (Ideological terrain) ซึ่งเป็นกระบวนการในสร้างความยินยอมพร้อมใจโดยธรรมชาติ (Spontaneously consensus) ให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน

สำหรับกรัมชี่ แนวคิดเรื่อง “ชนชั้น” จึงเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชนชั้นปกครอง ผู้ถือครองอำนาจนำ ที่ต้องยึดครอง/บังคับ (Coercion) และกำกับควบคุม (Direction) ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ เหนือกลุ่มผู้ถูกปกครอง หรือผู้ถูกทำให้อยู่ในสถานะรอง (Subaltern) ให้ได้ ดังนั้น การกลายเป็นผู้ถูกทำให้อยู่ในสถานะรองจึงมิได้เกิดขึ้นอย่างบังเอิญ หากแต่ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ภายใต้การสร้างระบบความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับการสถาปนาอำนาจนำ (Hegemony) ของกลุ่มผู้ปกครอง โดยมีกลไกของรัฐ (State apparatuses) อยู่เบื้องหลัง และทำหน้าที่ที่สำคัญใน 2 ลักษณะ ดังนี้ ลักษณะแรก: กลไกการใช้อำนาจบังคับของรัฐ (The Governmental-coercive apparatus) ผ่านแนวคิดที่กรัมชี่เรียกว่า การทำสงครามขับเคลื่อน (War of movement) คือ การใช้อำนาจรัฐที่มีลักษณะความสัมพันธ์เชิงบังคับ (Coercive relations) (Simon, 1982, p. 70) ซึ่งรัฐหรือกลุ่มผู้ดำเนินการสร้างภาวะการครองอำนาจนำจะใช้อำนาจใน 2 ระดับ คือ 1) ระดับของการบังคับโดยตรง (Direct domination) หรือ การสั่งการโดยรัฐ และ 2) การใช้อำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย (Legislation) และมีอำนาจบังคับรองรับอย่างถูกต้องตามกฎหมายผ่านกลไกการใช้อำนาจบังคับในรูปแบบต่างๆของรัฐ (Gramsci, 1971, pp. 12, 269) ถึงแม้ว่า กลไกของรัฐ จะให้ความรู้สึกเอนเอียงไปในมิติของการกลไกการใช้อำนาจบังคับของรัฐ (The Governmental-coercive apparatus) ในพื้นที่ของ “สังคมการเมือง” ผ่านการใช้อำนาจทางกฎหมาย แต่การใช้อำนาจบังคับนั้นอาจเป็นไปอย่างชาญฉลาด และแยบยล โดยผสมผสานระหว่างการจูงใจ และการสร้างความยินยอม ผ่านการใช้อำนาจบริหารของรัฐด้วยเช่นกัน (Gramsci, 1971, pp. 265, 310)

ลักษณะที่สอง: กลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ (The Governmental-ideological apparatus) ผ่านการทำสงครามช่วงชิงพื้นที่ทางความคิด (War of position) ซึ่งเป็นการใช้อำนาจอุดมการณ์ของรัฐ เพื่อโน้มน้าว และชี้นำความคิด และความเชื่อ โดยวิธีการสร้างความรู้/ความจริงหลักให้เกิดขึ้น และให้ได้รับความนิยมจากประชาชน โดยที่ประชาชนไม่รู้สึกว่าเป็นการบังคับ (Gramsci, 1971, pp. Xiv, 12, 56; Simon, 1982, pp. 67-71) ซึ่งกลไกนี้จะขับเคลื่อนผ่านการให้ข่าว การสร้างข่าว และการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมือง ซึ่งรวมถึงการปลุกปั่น และการโฆษณาชวนเชื่อ เป็นต้น (Gramsci, 1971, pp. 103, 269)

ผลของการใช้กลไกของรัฐทั้งสองส่วนดังกล่าวนั้น ด้านหนึ่ง นำมาซึ่งผลประโยชน์ และอำนาจนำของกลุ่มผู้ปกครองในการครอบงำชนชั้นผู้ถูกปกครองของตน (Gramsci, 1971, p. 166; Schwarzmantel, 2015, p. 59) ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง กลไกดังกล่าวได้สร้าง “ภาวะการถูกทำให้อยู่ในสถานะรอง” ให้กับกลุ่มผู้ถูกปกครอง ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “การปลูกฝังความรู้ที่ปลอมแปลง” ด้วยการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง โดยที่พวกเขาเหล่านั้นไม่สามารถวิพากษ์ประวัติศาสตร์เชิงอุดมการณ์ที่ครอบงำตัวเขาเอง รวมถึงการถูกอธิบายและแสดงเหตุผลซึ่งเป็นผลมาจากการตั้งต้นทางประวัติศาสตร์ที่ถูกทำให้อยู่ในสถานะรองความมีอยู่และสถานะทางสังคมของกลุ่มคนเหล่านั้น โดยให้มีลักษณะเป็นกลุ่มคนที่ด้อยกว่าหรือต่ำกว่า และได้รับพิจารณาให้ผนวกรวม หรือคัดออกให้อยู่ในระดับทางสังคมเดียวกันจากกลุ่มชนชั้นนำเพื่อรักษาสถานะของความมีอำนาจนำของกลุ่มผู้ชนชั้นนำเอาไว้ (Crehan, 2016, pp. 16-17)

ในกรณีของรัฐไทยกับโรคโควิด-19 นั้น พบว่า รัฐไทยได้มีความพยายามในการจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างเข้มข้นในหลากหลายรูปแบบ ทั้งในส่วนของกลไกการใช้อำนาจบังคับของรัฐ อาทิเช่น การประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และการประกาศเคอร์ฟิว หรือห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. การกำหนดนโยบายงดเดินทางข้ามจังหวัด หากไม่มีเหตุจำเป็น ตลอดจนการสั่งการตามมาตรการควบคุมโรคระบาดครอบคลุมในทุกภาคส่วนของสังคม นอกจากนี้ รัฐไทยยังใช้กลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ ที่ว่าด้วยการผลิตสร้างชุดความรู้/ความจริงที่เรียกว่า “การเว้นระยะห่างทางสังคม”   (Social distancing) ที่โน้มน้าวให้ผู้คนใช้ชีวิตโดยรักษาระยะห่างระหว่างกันมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งการเก็บตัวอยู่ที่บ้าน และไม่ออกเดินทางไปไหนถ้าไม่จำเป็น เพื่อลดการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาด

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในมุมมองเชิงวิพากษ์ ภายใต้กรอบแนวคิดเชิงทฤษฎีเรื่องผู้ถูกทำให้อยู่ในสถานะรองแล้วกลับพบว่า การสร้างระยะห่างทางสังคมดังกล่าวไม่ได้หมายความครอบคลุมเพียงแค่ “ระยะห่างทางร่างกาย” หากแต่ยังเป็น “การสร้างระยะห่างทางชนชั้น” (Class distancing) ที่ไม่ได้เอื้อต่อการกักกันโรคสำหรับกลุ่มคนจน นอกจากนี้ยังเป็นการ “ผลัก” ให้กลุ่มคนดังกล่าวกลายเป็นกลุ่มผู้มีสถานะรองจากแนวนโยบายการจัดการโรคโควิด-19 ของรัฐไทยในอีกนัยยะหนึ่ง (Quinley, 2020; แนวหน้า, 2563; Ippoodom, 2020)

 วิธีการศึกษา

ระเบียบวิธีที่ใช้ในครั้งนี้ คือ การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) ที่ดำเนินการร่วมกันระหว่างการวิจัยเอกสารด้วยข้อมูลจากเอกสารวิชาการ จากงานวิจัย และจากสื่อออนไลน์ ควบคู่กับการวิจัยภาคสนามด้วยการสังเกตุ และการสัมภาษณ์ บนพื้นฐานของกระบวนทัศน์เชิงวิพากษ์ (Critical paradigm) โดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) เป็นแนวทางหลักในการวิเคราะห์ข้อมูล

ขอบเขตการศึกษา ประกอบด้วย การได้มาซึ่งข้อมูลใน 2 ส่วนหลัก ดังนี้

ส่วนแรก: การศึกษาเอกสารด้วยข้อมูลจากเอกสารวิชาการ จากงานวิจัย และจากสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับแนวนโยบายของรัฐไทยในการจัดการโรคโควิด-19 ในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 จนถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาปัจจุบัน โดยมี 4 เกณฑ์หลักในการคัดเลือกเอกสารดังนี้ เกณฑ์แรก: ด้านระยะเวลา คือ เอกสารนั้นจะต้องอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2562-2563, เกณฑ์ที่สอง: ด้านเนื้อหาซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัย, เกณฑ์ที่สาม: ด้านความน่าเชื่อถือของเอกสาร ซึ่งเอกสารจะต้องมาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น หนังสือ บทความในวารสาร วิทยานิพนธ์ และงานวิจัย รวมถึงฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และเว็บไซต์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเกณฑ์ที่สี่: ด้านประโยชน์ต่อการวิจัย (กาสัก เต๊ะขันหมาก, 2553, หน้า 49)

ส่วนที่สอง: การศึกษาภาคสนาม ซึ่งกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลัก ได้แก่ กลุ่มผู้ค้าตลาดสดในเขตเทศบาลพิษณุโลก เลือกโดยวิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive sampling) เพื่อหากลุ่มตัวอย่างรายแรก และต่อจากนั้นใช้วิธีการเลือกตัวอย่างแบบลูกโซ่ (Snowball sampling) ต่อไปอย่างน้อย 10 คน หรือจนกว่าข้อมูลจะอิ่มตัว โดยมีเกณฑ์ในการคัดเลือกกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักใน 3 ส่วนหลัก คือ ส่วนแรก เกณฑ์ในการคัดเข้า (Inclusion criteria) ประกอบด้วย 1) ผู้ให้ข้อมูลต้องยอมรับว่าตนเองเป็นกลุ่มผู้ค้าตลาดสดในเขตเทศบาลพิษณุโลก โดยไม่จำกัดเพศ อายุ และศาสนา, 2) ผู้ให้ข้อมูลจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ และเป็นผู้เกี่ยวข้องกับแนวนโยบายการจัดการโรคโควิด 19 ของรัฐไทย, 3) ผู้ให้ข้อมูลต้องไม่มีปัญหาด้านการสื่อสาร และ ส่วนที่สอง คือ เกณฑ์ในการคัดออก (Exclusion criteria) ประกอบด้วย 1) ไม่มีคุณสมบัติตาม “เกณฑ์การคัดเข้า”, 2) ผู้ให้ข้อมูลเจ็บป่วย หรือบาดเจ็บจนไม่สามารถให้ข้อมูลได้, 3) ผู้ให้ข้อมูลขอลาออกด้วยเหตุผลต่างๆ, 4) ผู้ให้ข้อมูลเสียชีวิต และส่วนสุดท้าย คือ เกณฑ์ในการยุติการศึกษา ประกอบด้วย 1) ผู้ให้ข้อมูลรู้สึกไม่สบายใจ หรือรู้สึกอึดอัดในการให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล,  2) ผู้ให้ข้อมูลรู้สึกว่าการเก็บข้อมูลเพื่อการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ เป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ให้ข้อมูล และต้องการที่จะหยุดการให้ข้อมูล

 ผลการศึกษา

การนำเสนอผลการศึกษาประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ดังมีรายละเอียดดังนี้

 ส่วนแรก: รัฐไทยกับโรคโควิด-19: ฐานคิด นโยบาย และแนวทางปฏิบัติ

ในระยะแรก (ม.ค.-ก.พ. 2563) ฐานคิดของรัฐไทยเกี่ยวกับ “โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” หรือ “โรคโควิด-19” ทำให้นึกย้อนกลับไปถึงความเชื่อเรื่องการป้องกันโรคระบาด ตามแนวคิด “ควอรันทีน” (Quarantine) แบบการแพทย์แผนตะวันตกที่เข้ามามีอิทธิพลในสังคมสยามในช่วงศตวรรษที่ 17 ดังนั้น หัวใจสำคัญของการป้องกันโรคระบาดในช่วงเวลาดังกล่าวจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานการป้องกัน “พระนคร” ซึ่งถือเป็นหัวใจของเมืองใน 2 ลักษณะ คือ 1) การป้องกันโรคระบาดที่กระจายจากภายนอกเข้าสู่พระนคร และ 2) การป้องกันโรคระบาดจากนอกพระนครแพร่เข้าสู่ในพระนคร ทั้งนี้เนื่องมาจากในเขตพระนครเป็นพื้นที่ที่มีการติดกับชาวต่างชาติ มีท่าเรือ เป็นชุมชนที่อยู่กันอย่างแน่นหนา และมีสภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่เอื้อต่อการระบาดของโรคได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว โดยชุดความเชื่อดังกล่าวได้รับการอ้างถึงจากบทความของหมอบรัดเลย์ ในช่วงปี พ.ศ. 2409 ชื่อว่า “เรื่องลงราก” และบทความเรื่อง “ตำราแก้ลงราก” ด้วยการเสนอแนวคิดในการตั้ง “ด่านกักเรือ” (ควอรันทีน: Quarantine) ที่ว่าด้วยการตรวจโรค คัดกรอง กีดกัน และกักกันเรือสินค้าที่มาจาก “ประเทศอินเดีย” เพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของโรคลงราก (อหิวาตกโรค) (Sterner, 2007, p. 4; ทวีศักดิ์ เผือกสม, 2545, หน้า 31-32; ยงศักดิ์ ตันติปิฎก, 2550, หน้า 6-8; กมเลศ โพธิกนิษฐ, 2561, หน้า 88)

ปัจจุบัน มาตรการสำคัญที่รัฐไทยใช้ ยังคงมุ่งเน้นไปที่การคัดกรองคนนอกที่เดินทางข้ามแดนที่เชื่อมโยงถึงแนวคิด “ควอรันทีน” โดยเริ่มมีการคัดกรองผู้โดยสารขาเข้าเที่ยวบินตรงจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนในท่าอากาศยาน 6 แห่ง ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. 2563 ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานภูเก็ต, ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานกระบี่ และตามมาด้วยวันที่ 24 ม.ค. 2563 ณ ท่าอากาศยานเชียงราย (ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคไวรัสโคโรนา 19, 2563) จนถึงวันที่ 18 ก.พ. 2563 การคัดกรองโรคโควิด-19 ขยายรวมไปถึงผู้เดินทางเข้าประเทศจากประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ รวมถึงการประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 21 ก.พ. 2563 กำหนดเกณฑ์คัดรองใหม่ โดยกำหนดให้ขยายการตรวจเพิ่มเติมไปถึงกลุ่มผู้เดินทางเข้าประเทศจากฮ่องกง มาเก๊า เกาหลีใต้ และไต้หวันอีกด้วย (Wipatayotin, 2020) ต่อมาในช่วงเดือน เม.ย. 2563 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ให้เหตุผลถึงความจำเป็นในการรักษามาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้คงความต่อเนื่องในการป้องกันและควบคุมโรค จึงได้ออกประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง ห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว จำนวนทั้งสิ้น 4 ฉบับ โดยเนื้อหาหลักของประกาศนั้นกำหนด และขยายเวลาการห้ามบินเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. จนถึง 31 พ.ค. 2563 (สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย, 2563)

นอกจากนี้ มาตรการการคัดกรองคนยังครอบคลุมไปถึงการจำกัดการระบาดภายในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินมาตรการเข้มข้น ด้วยการออกประกาศ สั่งการ และกำหนดมาตรการโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายในหลากหลายรูปแบบ อาทิเช่น การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.ถึง 31 พ.ค. 2563 รวมถึงการประกาศข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 5 หรือการประกาศมาตรการเคอร์ฟิว ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. (ราชกิจจานุเบกษา, 2563, หน้า 1; ราชกิจจานุเบกษา, 2563, หน้า 1-3) นอกจากการใช้อำนาจตามกฎหมายแล้ว ยังมีการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 76/2563 ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยให้หน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบายและมาตรการเร่งด่วนในการบริหารสถานการณ์ตามพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และยังมีอำนาจหน้าที่สั่งให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐปฏิบัติภายในขอบเขตหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย ขณะเดียวกัน ก็มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลควบคุมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงเพื่อชี้แจงประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจ และสื่อสารกับกับประชาชน เป็นต้น (สำนักนายกรัฐมนตรี, 2563)

สรุปได้ว่า ฐานคิด นโยบาย แนวทางปฏิบัติและมาตรการของรัฐไทยเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้นเกี่ยวข้อง และเชื่อมโยงกับฐานคิดเรื่อง “ควอรันทีน” (Quarantine) โรคระบาด แบบการแพทย์แผนตะวันตกตั้งแต่ในช่วงศควรรษที่ 17 ส่วนใหญ่ดำเนินไปในลักษณะของการใช้กลไกการใช้อำนาจบังคับของรัฐ หลักการสำคัญมุ่งเน้นการดำเนินการใน 2 ลักษณะ คือ 1) การตรวจจับ กีดกัน กักกัน และห้ามเข้าราชอาณาจักรสำหรับคนนอกที่เดินทางเข้ามาในประเทศ และ 2) การควบคุม บังคับ ปรับความคิด และพฤติกรรมของคนในประเทศให้เข้าใจ ยินยอมพร้อมใจ และยอมรับในกฎหมาย ข้อบังคับ และมาตรการต่างๆ ที่รัฐกำหนด เพื่อประโยชน์ในการจำกัดการระบาดของโรคโควิด-19 และการควบคุมความคิดและพฤติกรรมของประชาชนไปพร้อมกัน


ส่วนที่สอง: การเว้นระยะห่างทางสังคม, ระยะห่างทางชนชั้น กับการกลายเป็นกลุ่มผู้มีสถานะรอง

หลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2563 สาระสำคัญของข้อกำหนดอีกประการหนึ่งนอกเหนือไปจากมาตรการเคอร์ฟิว คือ การให้ผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่สามารถปิดสถานที่ต่างๆ ที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดได้ เช่น สถานบันเทิง โรงมหรสพ สถานที่ออกกำลังกาย ห้างสรรพสินค้า รวมถึงการกำหนดให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด เว้นแต่มีความจำเป็นซึ่งต้องแสดงเหตุผลและหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งต้องรับการตรวจคัดกรอง และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค แม้จะทำให้ใช้เวลามากกว่าปกติ (iLaw, 2563) ทั้งนี้ ข้อกำหนดดังกล่าวนำมาสู่สิ่งที่เรียกว่า “มาตรการล็อกดาวน์” (Lockdown) หรือ การปิดประเทศ หรือ ปิดเมือง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการยกระดับมาตรการในการสกัดกั้นการระบาดของโรค ซึ่งเป็นมาตรการที่ควบคุมถึงการจำกัดการเดินทาง การยกเลิกกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ ไปจนถึงการกักตัวเองภายในบ้านพัก และยังเป็นการเปิดทางให้กับรัฐบาลติดตามความเคลื่อนไหวพฤติกรรมของประชาชนอย่างใกล้ชิดเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม (Natchaphon, 2563)

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2563 รัฐบาลไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขยังได้ออกมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ควบคู่ไปกับมาตรการล็อกดาวน์ดังกล่าวข้างต้น โดยมีข้อกำหนดที่สำคัญ อาทิ การห้ามไปสถานบันเทิง โรงเรียน โรงภาพยนตร์ กิจกรรมกีฬา หรือพื้นที่ที่แออัดต่างๆ ให้ทำงานที่บ้าน (Work from home) สื่อสารผ่านระบบอินเตอร์เน็ต/ออนไลน์, การให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปในห้องที่แออัด ห้องประชุม/ชุมนุมขนาดใหญ่, การให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีคนเยอะมากกว่า 50 คนขึ้นไปมารวมกัน และให้สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเพื่อป้องกัน, การให้หลีกเลี่ยงชั่วโมงเร่งด่วนในสถานที่ที่มีคนเยอะ เช่น รถโดยสารสาธารณะ และร้านสะดวกซื้อ, การแนะนำให้ควร “อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ” อย่างน้อย 1 เมตรหรือ 1 ช่วงแขน เพื่อลดโอกาสการรับและแพร่กระจายเชื้อโรค, รวมถึงการแนะนำให้ประชาชนควรอยู่แต่ในบ้านให้มากที่สุด เพื่อลดโอกาสติดโรคให้น้อยลง ไม่เข้าร่วมกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นโดยไม่จำเป็น เช่น การไปงานเลี้ยงสังสรรค์ หรือการไปจ่ายตลาด อาจปรับให้น้อยที่สุดอาทิตย์ละ 1–2 วัน เป็นต้น ซึ่งมาตรการนี้ถูกขับเคลื่อนในรูปของ “ข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างการรับรู้สู่ชุมชน” โดยกระทรวงมหาดไทยกระจายลงสู่ทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ ตามข้อสั่งการในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ก.ค. และ 11 ก.ย. 2561 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 22 ต.ค. 2562 (ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค, 2563; ศูนย์สื่อสารสาธารณะ กรมอนามัย, 2563)

และเพื่อให้การขับเคลื่อนมาตรการการเว้นระยะห่างจากสังคมได้แทรกซึมเข้าไปอยู่ในระดับความคิด และพฤติกรรมของประชาชนในวงกว้าง รัฐไทยได้ออกแคมเปญเพื่อกระตุ้นการรับรู้ในระดับสาธารณะในชื่อ “หยุดเชื้อ อยู่บ้าน เพื่อชาติ” โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งสารอวยพรประชาชน เนื่องในโอกาสวันผู้สูงอายุแห่งชาติ 13 เม.ย. และวันแห่งครอบครัว 14 เม.ย. ประจำปี 2563 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ แสดงความห่วงใยผู้สูงอายุและขอให้ทุกครอบครัวดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 โดยร่วมกัน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” และปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด พร้อมอวยพรให้ประชาชนมีความสุข มีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่แข็งแรงสมบูรณ์ (thaipbs, 2563)

แคมเปญดังกล่าวยังได้รับการเน้นย้ำในการแถลงข่าวของศูนย์โควิด-19 อย่างเป็นทางการที่ทำเนียบรัฐบาลถึง 2 ครั้งในเวลาห่างกันแค่ 2 วัน โดยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (โฆษกรัฐบาล) ในวันที่ 20 มี.ค.  2563 ที่เน้นย้ำว่าการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาตินั้น ถือเป็น “ความร่วมมือของประชาชนที่พึงกระทำ” โดยกล่าวว่า

“ท่านนายกฯ ฝากให้เน้นย้ำขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคน งดการเคลื่อนที่ เคลื่อนย้ายตนเองออกจากพื้นที่ และถ้าเป็นไปได้ตามที่แพทย์หลายแห่ง ออกมารณรงค์ขอให้พวกเราอยู่บ้าน วันนี้ขอรณรงค์เป็นแคมเปญว่า “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”” (Workpoint News, 2020)

 และต่อมารองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ว่ามีนัยยะถึง “การเสียสละของประชาชนทุกคน” ความว่า “รัฐบาลเข้าใจดีถึงช่วงนี้ว่า เป็นเวลาแห่งความยากลำบาก ขอทุกคนเสียสละ ร่วมกันงดเดินทาง เว้นกิจกรรมทางสังคม อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เราจะ สามารถฝ่าวิกฤตนี้ ไปด้วยกัน” (thansettakij, 2020)

พร้อมกันนี้ ในเพจไทยคู่ฟ้าของรัฐบาลได้เผยแพร่ข้อความ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ #ไทยคู่ฟ้า เชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันดูแลตัวเอง ด้วยการพำนักอยู่ที่บ้าน งดการเดินทางเคลื่อนย้ายโดยเฉพาะจาก กทม. ไปต่างจังหวัด หรือเลื่อนออกไปก่อน งดสังสรรค์ หรือกินอาหารนอกบ้าน ขอให้ซื้อกลับบ้าน หรือให้ส่งที่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ #ประเทศไทยต้องชนะ #COVID19 ทำให้ในวันที่ 21 มี.ค. 2563 เกิดปรากฎการณ์ชาวเน็ตพากันติดแฮชแท็กคำว่า #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ได้ขึ้น เทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 (thaipbs, 2563) สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง ที่ได้กล่าวกับสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น ในวันที่ 21 มีนาคม 2563 ถึงความนิยมในการขับเคลื่อนมาตรการ”อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ของรัฐบาล โดยกล่าวว่า “มาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ได้รับกระแสตอบรับเป็นวงกว้าง และมีการพูดถึงอย่างมากในทวิตเตอร์ จนแฮชแท็ก #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ติดเทรนด์อันดับหนึ่งของประเทศไทยในขณะนี้” (covid-19.kapok, 2563)

ที่มา: https://www.thaigov.go.th/infographic/contents/details/2780

นอกจากนี้ รัฐบาลยังใช้กลไกในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ แผนการสำคัญที่เห็นได้ชัดคือการเห็นชอบให้กระทรวงวัฒนธรรมผลิตสื่อและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่องตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 เม.ย. 2563 โดยตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถผลิตสื่ออินโฟกราฟฟิก (Infographic) ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 50 ชิ้น และผลิตคลิปวีดิโอไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 20 คลิป โดยเผยแพร่ไปยังสื่อต่างๆ ทุกช่องทางรวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ด้วย (รัฐบาลไทย, 2563)

ด้านหนึ่ง ทั้งมาตรการล็อกดาวน์ และการเว้นระยะห่างทางสังคม ถือเป็นยุทธวิธีเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ได้รับการยอมรับในหลายประเทศทั่วโลก หัวใจสำคัญตั้งอยู่บนฐานคิดเรื่อง ระบาดวิทยา (Epidemiology) จากบทเรียนการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนที่ได้แพร่ระบาดเป็นวงกว้างไปทั่วโลกในระหว่างปี ค.ศ. 1918-1920 ทั้งนี้ แนวทางในการจัดการโรคโควิด-19 ทางระบาดวิทยามี 2 แนวทางสำคัญ คือ (1) การบรรเทาความเสียหาย โดยให้กลุ่มเสี่ยง เช่น แยกตัวผู้สูงอายุออก หรือการกักโรค (Quarantine) ผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยง (2) การยับยั้งโรคโดยใช้การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing)  เพื่อชะลอการแพร่ระบาดไม่ให้จำนวนผู้ป่วยสูงจนเกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข หรือเป็นอาวุธสำคัญในการลดระดับการติดเชื้อ และการแพร่เชื้อของผู้ป่วยได้ (เสาวณี จันทะพงษ์ และคณะ, 2563)

ในกรณีนี้ การเว้นระยะห่างทางสังคมจึงหมายถึงการป้องกันไม่ให้คนสองคนขึ้นไปมีปฏิสัมพันธ์กันทางกายภาพอย่างใกล้ชิด รวมถึงการปิดการกิจการต่างๆ ให้เหลือเท่าที่จำเป็นเพื่อตัดการรวมกลุ่มชุมนุมซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการระบาด และเพื่อยับยั้งหรือหยุดการระบาดของโรคโควิด-19 ที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง (BBC ไทย, 2020) ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวอาจใช้ได้ผลกับชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในเมืองที่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติในบ้านหรือคอนโดมีเนียมแม้จะต้องพบกับสภาพการกักตัว (Self-isolation) และกักโรค (Quarantine) หรือการทำงานที่บ้านโดยใช้คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เนต และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตามแคมเปญ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”

ดังจะเห็นได้จากกระแสการตอบรับต่อแคมเปญดังกล่าวจากประชาชน ดารา นักร้อง และคนดังต่างๆ ที่สะท้อนถึงรสนิยมและวิธีคิดของชนชั้นกลางที่ได้รับการเปิดเผย ผ่านพฤติกรรมที่แสดงออกในสื่อออนไลน์ และสื่อโซเชียล ทั้งทวิตเตอร์ ไอจี อินตราแกรม และ เฟซบุ๊กส่วนตัว อาทิเช่น การถ่ายรูปตนเองพร้อมชูป้ายรณรงค์การหยุดเชื้อเพื่อชาติ หรือการแฮชแท็ก “อยู่บ้าน เพื่อชาติ”, การโพสต์รูปถ่ายของตนเองในกิจกรรมต่างๆ ในขณะกักตัวอยู่บ้าน เช่น การปลูกผัก/ทำสวน, การทำความสะอาด/ตกแต่งบ้าน, การประชุม หรือการเรียนการสอน online, การออกกำลังกาย, การแต่งตัว/แต่งหน้าตามแฟชั่น, การดูหนัง/ดูซีรียส์ต่างประเทศ, การฟังเพลงจัดดอกไม้, การเล่นดนตรี, การทำงานศิลปะ การทำอาหาร และการนำเสนอคลิปร้องเพลง เล่นดนตรี เต้น และลิปซิงค์ผ่านคลิปวิดีโอสั้นๆ ในแอพพลิเคชั่นติ๊กตอก (Tik-Tok) เป็นต้น (ไทยรัฐออนไลน์, 2563; แนวหน้า, 2563; amarintv, 2563; Sociology classroom, 2563; ผู้จัดการออนไลน์, 2563; passiongen, 2020)

อย่างไรก็ตาม มาตรการล็อกดาวน์ที่ควบรวมไปถึงมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งได้รับการนำไปปฏิบัติในแต่ละจังหวัดของประเทศไทยนั้นกลับยังไม่มีความชัดเจน และเปิดกว้างสำหรับการให้เกิดการพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมของพื้นที่ และสถานการณ์ภายใต้อำนาจของผู้ว่าราชการ ทั้งนี้ ในบางจังหวัด และบางพื้นที่มาตรการดังกล่าวครอบคลุมไปถึงการสั่งปิดสถานบริการ ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ แหล่งชุมนุม รวมถึงตลาดสด และตลาดนัด และยังรวมไปถึงสถานบริการอื่นเพิ่มเติม สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ภาคธุรกิจ และการค้าไม่สามารถเปิดทำการ หรือให้บริการได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอีกด้านหนึ่ง สำหรับกลุ่มพนักงานประจำต้องเผชิญกับภาวะเสี่ยงตกงาน แรงงานชั่วคราว ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และทำธุรกิจส่วนตัว หรือพ่อค้าแม่ค้าต้องขาดรายได้เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน และต้องพยายามรักษาสภาพคล่อง และสภาพหนี้เอาไว้ รวมถึงกลุ่มคนจนนับล้านที่ต้องตกอยู่ในสถานะไม่มั่นคงและบางคนต้องดำรงชีพด้วยการรับแจกอาหารจากผู้ใจบุญเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดในแต่ละวัน (รมย์รัมภา เริ่มรู้, 2563; Isoux, 2020) ดังนั้น กระแสการตอบรับต่อมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมตามแคมเปญ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” จึง “แตกต่างออกไป” จากกลุ่มชนชั้นกลางข้างต้น หากแต่ “ยังคงเป็นปกติ” ที่ต้องดิ้นรนทำมาหากิน “เสมือนที่เคยทำ” ในทุกๆ วัน

ที่มา: https://www.thairath.co.th/entertain/news/1804921

ดังจะเห็นได้จากบทความ และบทสัมภาษณ์ออนไลน์ที่ถูกนำเสนออย่างหลากหลาย ซึ่งสะท้อนถึงความยากลำบากของกลุ่มคนจนที่ต้องดิ้นรนเพื่อใช้ชีวิตและต้องคงอยู่รอดให้ได้ “อย่างเป็นปกติ” ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์และมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมของรัฐ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างอาทิเช่น

อาชีพคนขับรถแท็กซี่และคนขับรถสามล้อซึ่งไม่สามารถหยุดอยู่บ้านได้ และได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว ทำให้ผู้โดยสารลดลง รายได้ประจำวันหายไปเกินครึ่ง ในขณะที่รายจ่ายของครอบครัวยังคงเท่าเดิม จนนำมาสู่เหตุการณ์การฆ่าตัวตายของคนขับรถแท็กซี่ท่านหนึ่งที่ประสบปัญหารายได้ลดลง และปัญหาหนี้สินจากการผ่อนรถแท็กซี่ เช่นเดียวกับแรงงานนอกระบบที่ไม่สามารถการกักตัวอยู่บ้านได้ทุกคน เพราะต้องทำมาหากินเพื่อเอาชีวิตรอดในแต่ละวัน (ก้าวหน้า พงศ์พิพัฒน์, 2020; Ippoodom, 2020)

สอดคล้องกับกลุ่มพนักงานบริการทางเพศและและพนักงานภาคบริการในสถานที่ท่องเที่ยวกลางคืนที่ต้องขาดรายได้ และถึงแม้รัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบภายใต้โครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” แต่เงินจำนวน 5,000 บาทที่ผู้ที่ได้รับการอนุมัติจะได้รับเป็นเวลา 3 เดือนนั้น มีเงื่อนไขกฎเกณฑ์ที่ทำให้กลุ่มอาชีพอย่างพวกเขาถูกกันออกไป เนื่องจากสถานะทางอาชีพของพวกเขาเหล่านั้นถูกตีความว่าเป็นสิ่ง “ผิดกฎหมาย” (ชัยยศ ยงค์เจริญชัย, 2020)

กลุ่มอาชีพของคนตาบอด ทั้งในส่วนของอาชีพนวดแผนไทย, อาชีพค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล และอาชีพนักร้องนักดนตรีในที่สาธารณะ ซึ่งล้วนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากการขาดรายได้ และได้รายได้น้อยลงจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม มติเลื่อนการออกสลากสามงวด รวมถึงการสั่งปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด โดยรัฐเน้นการสั่งปิด แต่ไม่บอกว่าจะช่วยเหลืออะไร (พริสม์ จิตเป็นธม, 2020)

รวมถึงกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า และกลุ่มรับจ้างทั่วไปในชุมชนคลองเตยซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย พวกเขาเหล่านี้ไม่เพียงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงโรคระบาดเพียงเท่านั้น หากแต่ยังต้องตกอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงที่จะกลายเป็นผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 เพราะอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด ไม่สามารถหยุดอยู่บ้าน และยังต้องทำงานทุกวัน อีกทั้งความยากจนทำให้ไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์มาป้องกันตัวเองได้ (ชัยยศ ยงค์เจริญชัย, 2020)

บทสัมภาษณ์เหล่านี้สอดคล้องกับมุมมองในมิติสังคมวิทยาที่นำเสนอว่า มาตรการ“Social Distancing” และ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ทำให้แรงงานในเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรายได้น้อย เช่น กลุ่มลูกจ้างรายวัน กลุ่มแรงงานหญิงในภาคบริการ โรงแรม และภัตตาคาร รวมถึงกลุ่มที่ถูกเลิกจ้างเพราะสถานประกอบการปิดถาวร และกลุ่มที่ถูกเลิกจ้างชั่วคราว เช่น ถูกลดวันทำงาน ลดค่าจ้าง หรือให้หยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง รายได้ลดลง ทำให้ไม่สามารถแบกรับภาระค่าครองชีพในเมืองที่สูงได้ และไม่มีความคุ้มครองทางสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการอพยพของแรงงาน แต่ในขณะที่ยังมีแรงงานบางกลุ่มพยายามดิ้นรน และปรับตัว ด้วยการเปลี่ยนวิถีการประกอบอาชีพให้สอดรับกับความต้องการของเมือง โดยเปลี่ยนไปทำงานที่ใกล้เคียงเดิมตามความถนัด เช่น เปลี่ยนจากเย็บเสื้อผ้าเป็นเย็บหน้ากากผ้าขาย จากขับรถรับจ้างเป็นขับรถรับส่งอาหาร ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้แม้จะปรับตัวได้ แต่ก็ยังคงต้องทำงานนอกบ้านอย่างหนักเพื่อดำรงชีพ และเลี้ยงครอบครัวเหมือนเดิม “อย่างเป็นปกติ” (เสาวณี จันทะพงษ์ และคณะ, 2563)

นอกจากนี้ ผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มาตรการต่างๆ ของรัฐที่จำกัดการทำกิจกรรมนอกบ้านอย่างเข้มงวด โดยไม่มีการเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทำให้คนจนเมืองต่างประสบปัญหาความเดือดร้อนด้านเศรษฐกิจอย่างมาก อาทิเช่น คนจนเมืองมากกว่า 90% ได้รับผลกระทบด้านรายได้ลดลง, ผู้ประกอบอาชีพค้าขายหาบเร่แผงลอย ไม่สามารถค้าขายได้ เพราะพื้นที่ที่ค้าขายถูกจำกัด ส่วนผู้ประกอบอาชีพอิสระเช่น ช่างต่างๆ คนขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง คนขับรถรับจ้าง รถตู้ ฯลฯ จำนวนผู้ว่าจ้างก็ลดลงจนถึงไม่มีผู้ว่าจ้างเลย สภาพเหล่านี้ทำให้คนจนเมืองต้องประสบปัญหาหนี้สิน ต้องนำทรัพย์สินไปจำนำ ไปจนถึงไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าที่อยู่อาศัย ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะถูกเจ้าของบ้านหรือเจ้าของห้องขับไล่ ให้กลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

สำหรับมาตรการปรับตัวโดยให้ทำงานที่บ้านหรือ Work from home นั้น พบว่า อาชีพของคนจนเมืองส่วนใหญ่ไม่สามารถปรับตัวมาทำงานที่บ้านได้ ซึ่งตอกย้ำว่า คนจนเมืองเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการของรัฐที่จำกัดการออกไปทำงานนอกบ้าน เพราะคนจนเมืองต่างจากชนชั้นกลางหรือผู้ประกอบอาชีพอื่นที่สามารถปรับตัวจากการทำงานในสำนักงาน หรือทำงานที่บ้านโดยเครื่องมือสารสนเทศได้ (อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และคณะ, 2563, หน้า 8-11)

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า มาตรการล็อกดาวน์ และการเว้นระยะห่างทางสังคม ด้านหนึ่ง คือประโยชน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส ผ่านการควบคุมคนและการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ผ่านแนวทางการปฏิบัติตัว หรือสร้างพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่พึงกระทำ ผ่านแนวทางการรักษาระยะห่างทางสังคม, การหยุดอยู่บ้าน ซึ่งถูกทำให้เป็น “เรื่องที่พึงกระทำเพื่อช่วยชาติ” มาตรการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มชนชั้นกลางน้อยมาก ซึ่งอาจทำให้การดำเนินชีวิตยากลำบากไปบ้าง แต่ในขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งโอกาสในการทำกิจกรรมต่างๆ ในระหว่างต้องกักตัวอยู่ที่บ้านในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นไปในลักษณะกิจกรรมสันทนาการ หรือกิจกรรมที่แสดงถึงสุทรียศาสตร์ซึ่งสะท้อนรสนิยมของชั้นกลางที่แฝงไปด้วยความหรูหรา (Extravagance) และการเพลิดเพลินกับการดำเนินชีวิตด้วยความสนุกและสุขสบาย (Luxury)

ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง มาตรการล็อกดาวน์ และการเว้นระยะห่างทางสังคม กลับเป็น การสร้างระยะห่างทางชนชั้น (Class distancing) ที่กลุ่มชนชั้นกลาง สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบาย ในขณะที่กลุ่มคนจน ผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มผู้ใช้แรงงานไม่สามารถหยุดอยู่บ้านเฉยๆ หรือทำงานที่บ้านตามที่รัฐพยายามสร้างชุดความรู้/ความจริงใหม่ตามแคมเปญ “หยุดเชื้อ อยู่บ้าน เพื่อชาติ” ได้ หากแต่การปฏิบัติตามแคมเปญนั้นกลับทำให้พวกเขาเหล่านั้นต้องเผชิญกับ “ภาวะการกลายเป็นผู้ถูกทำให้อยู่ในสถานะรอง” ต้องประสบปัญหาการขาดรายได้ รายได้ลดลง ปัญหาหนี้สินซึ่งไม่เพียงแต่เป็นปัญหาส่วนบุคคลเฉพาะตัวเขาเท่านั้น หากแต่ยังเป็นปัญหาส่วนรวมของครอบครัว ในขณะที่นโยบาย/มาตรการช่วยเหลือก็ไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือบางรายอาจถูกคัดออก (Exclude) จากนโยบายเหล่านั้นด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มคนดังกล่าวจะไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรการล็อกดาวน์ และการเว้นระยะห่างทางสังคมด้วยการหยุดการทำงานเพื่ออยู่บ้านได้อย่างเต็มที่ตามที่รัฐพึงประสงค์ แต่พวกเขาก็ไม่ได้หยุดนิ่งเพื่อรอขอรับความช่วยเหลือจากรัฐเพียงอย่างเดียว หากแต่พวกเขาเลือกที่จะ “ดำเนินชีวิตด้วยการทำมาหากินอย่างเป็นปกติ” ซึ่งแม้ลักษณะงานจะเปลี่ยนไปบ้าง รายได้อาจจะลดลงบ้าง แต่ก็สะท้อนถึงความพยายามในการดิ้นรนเพื่ออยู่รอด และความรับผิดชอบต่อชีวิต และครอบครัว แม้ด้วยสถานะทางสังคม และลักษณะการประกอบอาชีพของพวกเขาเหล่านั้นอาจจะมีความเสี่ยงต่อการถูกตำหนิติเตียน หรือถูกดูถูกเหยียดหยามจากสังคมถึง “สำนึกสาธารณะ” ที่พวกเขาไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบายของรัฐก็ตาม


ส่วนที่สาม: การต่อสู้ ต่อรอง เพื่ออยู่รอดของกลุ่มผู้ค้าตลาดสดในเขตเทศบาลพิษณุโลก

ในส่วนนี้เป็นการตอบวัตถุประสงค์หลักข้อที่สองของบทความ โดยนำเสนอคำอธิบายการต่อสู้ ต่อรอง เพื่ออยู่รอดของกลุ่มผู้ค้าตลาดสดในเขตเทศบาลพิษณุโลก ภายใต้กรอบคิดที่ว่า “ไม่มีใครถูกทำให้อยู่ในสถานะรองหรือถูกกดขี่อย่างถาวร” (Nobody can be subalterned or oppressed permanently)” ทั้งนี้ เพราะ “อำนาจมีความเลื่อนไหล” โดยอำนาจนั้นมีอยู่ และมาได้จากทุกหนทุกแห่ง และที่สำคัญ คือ เมื่อที่ใดที่มีอำนาจกดทับที่นั่นย่อมมีการต่อสู้ขัดขืน (Foucault, 1991, pp. 95-96) ดังจะเห็นได้จาก กลุ่มผู้ค้าตลาดสดฯ ดังกล่าวได้สร้างกลไกในการต่อรอง ต่อต้าน และขัดขืนต่อภาวะการทำให้อยู่ในสถานะรองของรัฐไทยในหลากหลายลักษณะ ดังจะขอกล่าวในรายละเอียดดังนี้

อุดมการณ์ของรัฐและจิตสำนึกสาธารณะ กับสำนึกทางชนชั้นและความรับผิดชอบต่อครอบครัว

อุดมการณ์ของรัฐ คือ อุดมการณ์แบบชนชั้นปกครอง (Ruling Ideology) ซึ่งเป็นภาพแสดงตัวแทน (Representation) ของความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้ปกครองกระทำต่อผู้ถูกปกครองที่แสดงลักษณะจุดยืนทางชนชั้น (Class position) ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือที่ชนชั้นผู้ปกครองใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งการครองอำนาจนำ พร้อมกับความพยายามมอมเมาให้ชนชั้นผู้ถูกปกครองมองไม่เห็น “สภาพความเป็นจริง” ของการที่ตนถูกกดขี่ขูดรีดโดยชนชั้นปกครอง โดยที่ประชาชนไม่รู้สึกว่าเป็นการบังคับ (Gramsci, 1971, pp. Xiv, 12)

ในกรณีนี้รัฐไทยพยายามหยิบยกความสำคัญของมาตรการล็อกดาวน์ที่ควบรวมไปถึงมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม ผ่านแคมเปญ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ซึ่งกระบวนการดังกล่าวได้พยายามสร้าง ปลูกฝัง และกระตุ้นเตือนถึงสิ่งที่เรียกว่า “จิตสำนึกสาธารณะ” (Public consciousness) ให้กับประชาชนคนไทยทุกคน ที่พึงกระทำตาม และอุทิศตนขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวด้วยความร่วมแรงร่วมใจ และเป็นหนึ่งเดียว (Unity) ผ่านทั้งกลไกด้านกฎหมาย และกลไกเชิงสื่อสาธารณะ (Mass media)

อย่างไรก็ตาม ภายใต้อุดมการณ์ของรัฐ ที่พยายามสร้างสภาวะการครอบงำทางความคิดนั้น กลุ่มผู้มีสถานะรองมิได้สยบยอมอย่างสิ้นเชิงต่ออำนาจการทำให้อยู่ในสถานะรองนั้นๆ หากแต่พวกเขาได้พยายามหาแนวทางเพื่อต่อรอง และต่อต้านด้วยกลยุทธ์ (tactics) ที่แยบคาย ซึ่งไม่ได้เป็นไปในลักษณะแบบแข็งทื่อ (Rigid) ดังเช่น “การเกิดสำนึกทางชนชั้น” (Class consciousness) เพื่อให้เกิด “การปฏิวัติ” (Revolution) ล้มล้างการครองอำนาจนำของรัฐ และการสถาปนากลุ่มของตนเองขึ้นไปครองอำนาจนำดังเช่นแนวคิดของกลุ่มมาร์กซิสต์เก่า (Orthodox Marxism) หากแต่การต่อรอง ตอบโต้ และขัดขืนของกลุ่มผู้ค้าตลาดสดฯ นั้น แสดงให้เห็นถึงการใช้กลไก และพื้นที่ในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ที่แยบยล และแนบเนียนกว่านั้น ด้วยวิธีการ “ปฏิวัติความคิดของตนเอง” ผ่านการสร้างกระบวนการเรียนรู้ หรือเกิดสำนึกใหม่ ด้วยประสบการณ์ และทักษะการเอาตัวรอดในชีวิตประจำวัน (Survival skill) เพื่อปรับตัว และอยู่รอดภายใต้สภาวะการถูกทำให้อยู่ในสถานะรองนั้นๆ

จากการศึกษาพบว่า ในส่วนของกลุ่มผู้ค้าตลาดสดฯ นั้น พวกเขามิได้ขัดขืน หรือประท้วงต่อมาตรการล็อกดาวน์หรือการเว้นระยะห่างทางสังคมด้วยวิธีการรุนแรง หรือปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง หากแต่พวกเขาได้ “รับรู้ ตระหนัก และเข้าใจ” ถึงความสำคัญของมาตรการดังกล่าว หากแต่ไม่สามารถ “หยุดอยู่บ้านได้” พวกเขายังคงออกจากบ้านไปขายของ และใช้ชีวิตทำมาหากินเช่นเดิม หากแต่มีความรัดกุมในการป้องกันตัวเองมากขึ้น ดังปรากฎในคำสัมภาษณ์ของพี่แอน (นามสมมติ) แม่ค้าขายไก่สดแปรรูปในตลาดสดแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลพิษณุโลก ความว่า

“พี่รู้ พี่เข้าใจว่าโรคมันอันตราย คนเค้าติด คนเค้าตายกันเยอะแยะ แต่จะให้พี่หยุดอยู่บ้าน พี่ทำไม่ได้หรอก พี่ต้องทำมาหากิน ต้องกิน ต้องใช้” (พี่แอน (นาม สมมติ), สัมภาษณ์, 2 พ.ค. 2563)

ในประเด็นของการไม่สามารถหยุดทำงานเพื่ออยู่บ้าน เพราะภาระค่าใช้จ่าย และความรับผิดชอบต่อครอบครัว สอดคล้องกับความคิดเห็นของป้าณี (นามสมมติ) แม่ค้าขายแกงถุง ที่กล่าวว่า

 “กลัวตายน่ะสิ แต่หยุดแล้วจะเอาอะไรกิน ลำพังขายของทุกวันๆ ก็แย่อยู่แล้ว ขายได้ก็พออยู่ ขายไม่ได้ก็ลำบากหน่อย แต่ถ้าจะไม่ให้ขายเลย ก็ตายอย่างเดียว” (ป้าณี (นามสมมติ), สัมภาษณ์, 2 พ.ค. 2563)

เรื่อง “จิตสำนึกสาธารณะแบบปัจเจก” ได้รับการสนับสนุนจากความคดเห็นของและพี่สวย (นามสมมติ) แม่ค้าปลาทอด ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของมาตรการดังกล่าว แต่ความรับผิดชอบต่อชีวิตและครอบครัวที่ต้องทำมาหากินเพื่อความอยู่รอดนั้นเป็นประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยกล่าวว่า

รู้เหมือนกัน ไอ้ที่เค้าให้หยุดอยู่บ้านเนี่ย ถ้าคนที่เค้าทำได้น่ะมันก็ดี แต่พี่หยุดไม่ได้หรอก พี่ต้องขายของทุกวัน พี่ไม่ได้มีทำอย่างอื่น แฟนพี่ก็ช่วยกันขาย ทั้งบ้านก็ขายของอย่างเดียวนี่แหละ ถ้าไม่ได้ขายของ พี่ตายแน่ๆ ทั้งลูกเต้าตั้งสามคน ไหนจะค่ากิน ค่าใช้ หนี้สินอีก แล้วถ้าเปิดเทอมอีก นี่ไม่อยากจะนึกเลย” (พี่สวย (นามสมมติ), สัมภาษณ์, 2 พ.ค. 2563)

สรุปได้ว่า มาตรการล็อกดาวน์ที่, การเว้นระยะห่างทางสังคม และแคมเปญ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” สะท้อนให้เห็นถึงการตระหนักว่าผลประโยชน์ของเขา เป็นผลกระโยชน์ร่วมกับคนอื่นๆ ในชนชั้น เดียวกัน รวมถึงความพยายามในการประสานประโยชน์ระหว่างอุมการณ์ของรัฐและจิตสำนึกสาธารณะ กับสำนึกทางชนชั้นและความรับผิดชอบต่อครอบครัว ด้านหนึ่งรัฐไทยพยายามสร้าง ปลูกฝัง และกระตุ้นเตือนถึง “จิตสำนึกสาธารณะแบบรัฐ” ผ่านการสร้างพฤติกรรมการใช้ชีวิต และถือเป็นหน้าที่ที่ “พลเมืองของรัฐพึงปฏิบัติตามเพื่อช่วยชาติ” อีกด้านหนึ่งความพยายามสอดแทรกวิธีคิดแบบรัฐนั้นได้สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในระดับหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ได้ปลุก “สำนึกทางชนชั้น” ผ่าน “การปฏิวัติความคิดของตนเอง” ของกลุ่มผู้ค้าตลาดสดฯ ให้เกิดขึ้น และเพื่อใช้ต่อรองกับสภาวะการครอบงำทางความคิดที่รัฐพยายามสร้างขึ้น กระบวนการนี้ถือเป็นการให้ความหมายใหม่ของคำว่า “จิตสำนึกสาธารณะแบบรัฐ” เป็นความหมายที่มีนัยยะว่า “จิตสำนึกสาธารณะแบบปัจเจก” ซึ่งมีอาณาเขตที่กว้าง และลงลึกมากกว่า “ความรับผิดชอบต่อชาติ” ไปถึง “ความรับผิดชอบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของครอบครัวพวกเขาเอง”

การดูแลสุขภาพตนเองของกลุ่มผู้ค้าในตลาดสดแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลพิษณุโลก

ตลาดสด: พื้นที่ของความสัมพันธ์, เครือข่าย และการเรียนรู้ เพื่ออยู่รอด

เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า “ตลาดสด” ตามมุมมองเชิงกายภาพของความเป็นสถานที่แล้วพบว่า ด้านหนึ่ง ลักษณะของตลาดสดสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาที่ถูกทำขึ้นเพื่อให้สอดรับกับการปรับตัวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ และการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ โดยการปรับเปลี่ยนลักษณะของตลาดนั้นดำเนินการในหลากหลายรูปแบบ ทั้งในส่วนของการจัด ระเบียบ ความสะอาด การบริการด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการจัดสร้างอาคารถาวร ยกพื้นสูงแบ่งเป็นช่องสำหรับจำหน่ายสินค้าประเภทอาหารสด อาหารแห้ง อาหารสำเร็จ ผัก และผลไม้ บริเวณโดยรอบของตลาดหรือด้านหน้าจะมีอาคารถาวรจำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ด ส่วนใหญ่เป็นเครื่องอุปโภค เช่น เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องครัว และภาชนะต่างๆ  และมีร้านของชำแทรกอยู่ทั่วไป (กิตติพร ใจบุญ, 2543, หน้า 22)

แต่เมื่อพิจารณา “ตลาดสด” ตามมุมมองเชิงสังคมวิทยาแล้วกลับพบว่า ตลาดสดถือเป็นพื้นที่ของเครือข่ายความสัมพันธ์ เป็นพื้นที่แห่งชีวิตที่มีกิจกรรมการซื้อขายแลกเปลี่ยนซึ่งดำรงอยู่ควบคู่กับสังคมมนุษย์มาช้านาน โดยที่การซื้อขายแลกเปลี่ยนนั้นผูกพันกับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตและเป็นพื้นฐานของการดำรงสังคม (สมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์, 2549, หน้า 2)

นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่ของเครือข่ายความสัมพันธ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตลาดสดจำนวนมาก อาทิเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อค้าแม่ค้ากับผู้ซื้อ รวมถึงกลุ่มลูกจ้างซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานในตลาดสด ทั้งคนรับจ้างขาย, คนแต่งผัก, คนรับจ้างขูดมะพร้าว ตลอดจนกลุ่มคนส่งของ ทั้งคนขับรถสามล้อส่งของ หรือรถรับจ้าง เป็นต้น (เพชรี จงกำโชค, 2528, หน้า 43-45)

ดังนั้น ตลาดจึงเป็นศูนย์รวมความหลากหลาย ที่ไม่ใช่แค่ความหลากหลายในแง่สินค้า วัตถุดิบอาหารเครื่องปรุง เครื่องเทศ ของแห้ง อาหารสดเท่านั้น แต่รวมไปถึงความหลากหลายในความเป็นมนุษย์ ตลาดจึงเป็นพื้นที่สร้างปฏิสัมพันธ์ของผู้คน ระหว่างคนท้องถิ่นและคนผ่านทาง คนแก่และคนหนุ่มสาว คนมีฐานะและคนยากไร้ หรือเป็นพื้นที่ “สังคมสำหรับทุกคน” (Inclusive society) (พชร สูงเด่น, 2019) รวมถึงการเป็นพื้นที่ของการปรับตัว เพื่อการต่อรอง กับความสัมพันธ์เชิงอำนาจชุดอื่นๆ อีกลักษณะหนึ่ง (ยศ สันตสมบัติ, 2543, หน้า 5)

ปัจจุบันกลุ่มผู้ค้าตลาดสดฯ นอกจากที่จะต้องปรับตัวภายใต้บริบทของเศรษฐกิจทุนนิยมแบบสังคมเมืองที่ปรับเปลี่ยนไปแล้ว ยังต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดภายใต้สถานการณ์โรคโควิด-19 อีกด้วย สะท้อนให้เห็นว่าภายใต้มาตรการล็อกดาวน์หรือการเว้นระยะห่างทางสังคมกลับนำมาซึ่งปัญหาการขาดรายได้, การค้าขายที่ยากลำบากมากขึ้น โดยที่ค่าครองชีพ และปัญหาหนี้สินยังคงเดิม จากสภาพปัญหาดังกล่าว ผลจากการศึกษาได้เปิดเผยให้เห็นความจริงอีกด้านหนึ่งของตลาดสดที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่ของความสัมพันธ์, เครือข่ายของการปรับตัว เพื่อการเรียนรู้ และอยู่รอด ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้เครือขายความสัมพันธ์ที่ยึดโยงด้วยความเป็นคนในครอบครัวหรือเป็นญาติกัน, เป็นคนในหมู่บ้านเดียวกัน และความเป็นพวกพ้อง “คนตลาด” เดียวกัน รวมถึงเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบเหมือนๆ กัน ดังคำบอกเล่าของป้าจิต (นามสมมติ) แม่ค้าขายแกงถุงในประเด็นของการมีเครือข่ายของกลุ่มผู้ค้าตลาดสดฯ ที่เป็นเครือญาติกันคอยส่งข่าวถึงกฎระเบียบข้อบังคับที่รัฐกำหนดให้ดำเนินการ ตลอดจนการส่งข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสในการค้าขาย เพื่อขยายโอกาสในการค้าขายให้มีรายได้อยู่รอดในสถานการณ์โรคโควิด-19 ความว่า

“ที่ขายๆ กันอยู่นี่ก็เป็นญาติกันทั้งนั้น แยกๆ กันไป น้องสาวป้าก็ขายตลาดเช้า น้องอีกคนกับพวกหลานๆ ก็ขายตลาดเย็นอีกที่หนึ่ง ในตลาดนี้หลานๆ ป้าก็แยกแผงกันขาย ผัดไทยมั่ง คอหมูย่าง ปลาทอด ของทอดมั่ง ก็ช่วยๆ กันทำมาหากิน… มีอะไรก็คอยบอกกัน ตลาดนู้นเค้าให้ทำยังไง เราก็คอยฟัง เอามาปรับ เอามาทำตาม จะได้ขายต่อได้ บางที่เค้าก็ขู่ ถ้าไม่ทำตาม เค้าก็จะไม่ให้ขาย” (ป้าจิต (นามสมมติ), สัมภาษณ์, 9 พ.ค. 2563)

ในประเด็นของการส่งข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสในการค้าขาย ลุงหมาน พ่อค้าขายแกงถุง สามีของป้าจิต (นามสมมติ) ช่วยเสริมว่า

“ช่วงนี้ ตลาดบางที่มันก็เงียบบ้าง พ่อค้าแม่ค้าบางคนก็หันไปทำมาหากินอย่างอื่นบ้าง ก็คอยบอกกัน แผงนั้นว่าง ล๊อคนี้ว่าง ก็คอยๆ บอกกัน อย่างเราขายเย็น แต่ถ้าล๊อคเช้าว่าง บางทีเราก็ไป เราก็คอยบอกเค้าด้วย ผลัดกัน ถ้าออกบ้านไปขาย ยังไงมันก็ได้ จะมากจะน้อยก็ดีกว่าอยู่เฉยๆ ก็มันเป็นอย่างนี้ จะทำยังไงได้ ยังไงก็ต้องช่วยกัน ช่วยกันทำมาหากิน” (ลุงหมาน (นามสมมติ), สัมภาษณ์, 9 พ.ค. 2563)

นอกจากนี้ เครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มผู้ค้าตลาดสดฯ ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยทำหน้าที่ในการส่งข่าวเกี่ยวกับกฎระเบียบข้อบังคับที่รัฐกำหนดให้กลุ่มสมาชิกได้ปฏิบัติตาม ตลอดจนช่วยสอดส่องดูแล ทั้งกลุ่มผู้ค้าตลาดสดฯ ด้วยกัน และคอยแจ้งข่าวให้กับกลุ่มผู้ซื้อที่เข้ามาใช้บริการภายในตลาดสดด้วย ดัปรากฎในคำให้สัมภาษณ์ของพี่สา (นามสมมติ) แม่ค้าขายผักสดที่ว่า

“เค้าจะมีคนจากเทศบาลมาบอกเรา ขอความร่วมมืออะไรนั่นแหละ ให้เราสวมหน้ากาก ให้เราคอยล้างมือ เอาเจลมาตั้งให้ เราก็คอยบอกๆกัน เตือนๆกัน ส่วนใหญ่ก็เข้าใจกันดี ไพ่อค้าแม่ค้าเค้าอยากขายของ อะไรนิดๆ หน่อยๆ ทำได้ก็ทำ ถ้าทำแล้วได้ขายของต่อ เค้าก็ทำกันหมดแหละ เพราะถ้าไม่ได้ขายของต่อนี่สิ ปัญหาใหญ่เลย พี่ตายแน่เลย” (พี่สา (นามสมมติ), สัมภาษณ์, 10 พ.ค. 2563)

สอดคล้องกับ ในประเด็นการทำหน้าที่คอยแจ้งข่าวให้กับกลุ่มผู้ซื้อให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ตลาดสดขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามคำแนะนำจากทางการ ดังเช่นคำบอกเล่าของพี่เอก (นามสมมติ) พ่อค้าขายอาหารประเภททอดที่ว่า

“เราก็ต้องคอยดูพวกคนซื้อ แต่ส่วนใหญ่เค้าก็ใส่หน้ากากอนามัยกันอยู่แล้ว มีน้อยมากที่ไม่ได้ใส่ บางทีถ้าเจอเราก็จะบอกเค้าตรงๆ ว่าขอความกรุณาช่วยใส่หน่อยนะครับพี่ แต่ละร้านก็ต้องคอยช่วยกันดู มันไม่ใช่แค่เรา มันทุกคน ถ้าป้องกันโรคได้ ก็ได้ขายต่อ แต่ถ้าโรคมันเกิด กลัวเค้าจะปิดตลาดน่ะสิ ช่วยแจ้งๆ เตือนๆกันก่อน มันดีกว่า” (พี่เอก (นามสมมติ), สัมภาษณ์, 10 พ.ค. 2563)

เจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือไว้สำหรับให้บริการในตลาดสดแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลพิษณุโลก

สรุปได้ว่า เครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมของกลุ่มผู้ค้าในตลาดสดฯ มีลักษณะสำคัญอยู่ที่ “การเกาะเกี่ยว และยึดโยงกันด้วยความสัมพันธ์ในแนวราบ (Horizontal affiliation)” กล่าวคือ เป็น “กลุ่มเครือข่าย” มากกว่าเป็น “องค์กรอย่างเป็นทางการ” เชื่อมโยงกันด้วย 3 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย เครือข่ายความสัมพันธ์ (Networks) บรรทัดฐานทางสังคม (Norms) และ ความไว้วางใจของผู้คน (Trust) นอกจากนี้ ยังมีโครงสร้างของสังคมที่สร้างขึ้นจากกลุ่มบุคคลของสังคม หรือเป็นการรวมตัวของกลุ่มของสมาชิกของเครือข่าย (Nodes) ที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันโดยมีความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในรูปแบบต่างๆ เช่น ความเป็นเพื่อน หรือเป็นผู้มีประสบการณ์เหมือนๆ กัน ผู้ร่วมงาน การพูดคุย การให้คำแนะนำ การให้ความไว้วางใจ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน เป็นต้น เครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมของกลุ่มผู้ค้าในตลาดสดฯ เหล่านี้ได้ทําหน้าที่เสมือนที่พึ่งทางใจที่ให้การช่วยเหลือกลุ่มผู้ค้าในตลาดสดฯ เมื่อต้องพบเจอกับปัญหาและความยากลำบากเพื่อให้อยู่รอดภายใต้สถานการณ์โรคโควิด-19 ตลอดจนเป็นตัวเชื่อมช่องทางการสื่อสารระหว่างกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า, กลุ่มผู้ซื้อ และรัฐ ซึ่งด้านหนึ่งเพื่อขับเคลื่อนกฎ ระเบียบข้อบังคับของรัฐให้สามารถดำเนินไปได้อย่างเหมาะสม อีกด้านหนึ่งยังทำหน้าที่เป็นเสมือนศูนย์ Hotline เพื่อเพิ่มโอกาสให้สามารถสื่อสาร ติดต่อ และส่งข่าวระหว่างกลุ่มผู้ค้าในตลาดสดฯ ด้วยกัน ตลอดจนกลุ่มคนที่ “มีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน” ให้สามารถเรียนรู้ ปรับตัว เพื่อความอยู่รอด และสามารถอยู่ร่วมกันในสถานการณ์โรคโควิด-19 ได้อย่างเป็นปกติ

ระบบสุขภาพปฐมภูมิแบบรัฐ (State-primary care) กับการดูแลสุขภาพตนเอง (Self-care)

มาตรการล็อกดาวน์ ด้วยมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และแคมเปญ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” สะท้อนถึงระบบสุขภาพปฐมภูมิแบบรัฐ (State-primary care) ซึ่งว่าด้วยระบบที่ให้บริการสุขภาพในระดับที่เป็นด่านแรกของระบบบริการสาธารณสุข ด้วยกลไกและกระบวนการในการประสานความร่วมมือ เพื่อจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ โดยการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยระบบสุขภาพปฐมภูมิแบบรัฐนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อดูแลสุขภาพของบุคคลในเขตพื้นที่รับผิดชอบในลักษณะองค์รวม ตั้งแต่แรก ต่อเนื่อง และผสมผสาน (Integrated) ครอบคลุมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมโรค การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพ โดยหน่วยบริการปฐมภูมิหรือเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิที่ประกอบด้วย แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ รวมทั้งเชื่อมโยงกับครอบครัว ชุมชน และบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ เพื่อพัฒนาความรู้ของประชาชนในการดูแลส่งเสริมสุขภาพของตนเอง และสามารถดูแลตนเองเมื่อเจ็บป่วยได้อย่างสมดุล (ราชกิจจานุเบกษา, 2563, หน้า 166)

ในกรณีสถานการณ์โรคโควิด-19 นี้ รัฐไทยพยายามใช้ฐานคิดเรื่องระบบสุขภาพปฐมภูมิ ผ่านทั้งกลไกในลักษณะของการบังคับด้านกฎหมาย และมาตรการล็อกดาวน์ที่ควบรวมไปถึงมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม ร่วมกับกลไกเชิงอุดมการณ์ผ่านแคมเปญ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ด้วยสื่อสาธารณะจำนวนมาก เพื่อกำกับ และกำหนดพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้กับประชาชนในการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 พร้อมกับการชักจูง และชี้นำความคิดให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของมาตรการดังกล่าวในฐานะหน้าที่ความรับผิดชอบของพลเมืองที่ดีที่พึงกระทำ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ค้าในตลาดสดฯ มิได้ปฏิเสธกับมาตรการดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง หรือรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐตามความหมายของระบบสุขภาพปฐมภูมิแบบรัฐเพียงอย่างเดียว หากแต่ได้พยายามผลิตสร้างสิ่งที่เรียกว่าเป็น “การดูแลสุขภาพตนเอง” (Self-care) ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการมีสามัญสำนึกใหม่” (New Common Sense) ด้วย “การปฏิวัติความคิดของตนเอง” ร่วมกับทักษะการเอาตัวรอดในชีวิตประจำวัน

“การดูแลสุขภาพตนเอง” ดังกล่าวนี้สอดคล้องกับ ทฤษฎีการดูแลตนเอง (Theory of self-care) ของโดโรธี โอเรม (Dorothea Orem) ที่เสนอว่า การดูแลตนเอง (selfcare) เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นโดยความสมัครใจ เป็นการกระทําอย่างจงใจ และเรียนรู้ได้ จากการมีปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสารกับบุคคลอื่นโดยมีเป้าหมายเพื่อความสมบูรณ์ ในโครงสร้างและหน้าที่การทํางานของร่างกาย รวมทั้งพัฒนาการของมนุษย์ บุคคลที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่เป็นผู้มีสิทธิและมีความรับผิดชอบต่อการดูแลตนเอง เพื่อดํารงความเป็นเจ้าของชีวิตและสุขภาพของตนเองรวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อบุคคลที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนเองด้วย (Orem, 1985, p. 36; Orem 1995, p. 104)

ทั้งนี้ การดำเนินชีวิตตามระบบการดูแลสุขภาพตนเองของกลุ่มผู้ค้าในตลาดสดฯ นั้นตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่า “ทำอย่างไรไม่ให้ป่วย?” คือ “ต้องไม่ป่วย” เพราะการป่วยหรือหยุดงานคือการแสดงออกถึงการขาดรายได้ ซึ่งขัดต่อเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของกลุ่มผู้ค้าในตลาดสดฯ ที่ต้องการขายของ เพื่อหารายได้ ดังนั้น สภาวะการเจ็บป่วยหรือการหยุดงานนั้นจึงเป็นเสมือนภาพแทนของสภาวะที่ไม่พึงประสงค์สำหรับกลุ่มผู้ค้าในตลาดสดฯ และเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่จะทำให้เขาเหล่านั้นไม่สามารถที่จะบรรลุเป้าหมายในชีวิตของพวกเขา ด้วยเงื่อนไขนี้ทำให้กลุ่มผู้ค้าในตลาดสดฯ พยายามแสวงหาวิธีการดูแลสุขภาพตนเอง (Self-care) ในหลากหลายลักษณะ อาทิเช่นกรณีของป้าสมร (นามสมมติ) แม่ค้าขายขนมหวานที่ให้ข้อมูลว่า

“ป้ารู้ ป้าก็ดูทีวี คนในตลาดเค้าก็พูดกัน โรคนี้มันอันตราย คนตายก็เยอะแยะ แต่ป้าก็ต้องขายของ ก็ใส่หน้ากากนี่แหละ ใส่ตลอด เค้าให้เจลล้างมือ ก็พยายามล้างบ่อยๆ เห็นเค้าบอกมันติดกันตอนหยิบจับเงินด้วย ป้าก็ยิ่งต้องระวัง” (ป้าสมร (นามสมมติ), สัมภาษณ์, 16 พ.ค. 2563)

สอดคล้องกับกรณีของลุงสอน (นามสมมติ) พ่อค้าขายหมูที่ให้ความสำคัญกับการสวมใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย สะดวกที่สุด และป้องกันโรคได้ตามที่ตนเองได้ข้อมูลมา โดยกล่าวว่า

“ป่วยไม่ได้ ถ้าไม่ได้ขายของ ก็ไม่มีรายได้ หนี้สินมันรออยู่ทุกวัน… ก็ล้างมือนี่แหละ เจลแอลกอฮอล์เค้าเอามาแจกให้ก็ใช้ ที่บ้านก็มี ลูกๆ หลานๆ ก็ซื้อกันไว้ใช้… หน้ากากอีกอย่างขาดไม่ได้ จะออกไปไหนมาไหนต้องใส่ตลอด ของงี้ มันไม่รู้ใครเป็นใคร เราป้องกันเราไว้ก่อนดีกว่า” (ลุงสอน (นามสมมติ), สัมภาษณ์, 16 พ.ค. 2563)

ฐานคิดเรื่องการดูแลสุขภาพตนเองบนความตระหนักรู้ได้รับการสะท้อนให้เห็นเด่นชัดในความคิดเห็นของพี่เจ๋ง (นามสมมติ) พ่อค้ามะพร้าวขูดและน้ำกะทิ โดยกล่าวว่า

“โรคโควิดเนี่ยมันติดกันง่าย เป็นแล้วก็ตายด้วย เห็นรัฐบาลเค้าก็พยายามบอก ข่าวสารพี่ก็ต้องติดตามดู… ไอ้เรามันหยุดอยู่บ้านอย่างคนอื่นเค้าไม่ได้ ก็ต้องป้องกันตัวเองไว้ก่อน แต่จะให้หยุดขายของที่ตลาดแล้วไปนั่งขายของที่บ้านมันก็ทำไม่ได้แน่นอน พี่ก็ได้แค่ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างระหว่างพี่กันคนซื้อ ก็ทำแบบง่ายๆ นี่แหละ… ก็เพราะมันป่วยไม่ได้ไง ถ้าป่วยเราก็ต้องหยุด ยิ่งถ้าติดโควิดนี่ตายแน่ๆ หรือถ้ามีคนติดไปจากตลาดนี่ มีหวังเค้าสั่งปิดตลาด คราวนี้ได้ตายกันเป็นแถบ (หัวเราะ)” (พี่เจ๋ง (นามสมมติ), สัมภาษณ์, 16 พ.ค. 2563)

นอกจากนี้ ยังพบกรณีการประดิษฐ์นวัตกรรมเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 จากพี่แจง และพี่จุ๋ม (นามสมมติ) สองสาวผู้ทำหน้าที่เก็บเงิน แจกบัตร และเก็บบัตรค่าจอดรถ โดยเลือกใช้วิธีการให้ผู้ใช้บริการที่จอดรถหยิบเงินค่าบริการใส่ตระกร้า ในขณะเดียวกันก็ใส่บัตรจอดรถไว้ในตระกร้าใบเดียวกัน ในลักษณะแลกเปลี่ยนกัน เช่นเดียวกับตอนคืนบัตรจอดรถที่ใหผู้ใช้บริการคืนบัตรลงในตะกร้าเช่นกัน โดยไม่มีการสัมผัสมือซึ่งกันและกัน โดยพี่แจง (นามสมมติ) กล่าวว่า

“ก็คิดเอง มันเป็นวิธีง่ายๆ เนอะ สบายใจทั้งเค้า สบายใจทั้งเรา เราก็ไม่รู้ว่าเค้าจับอะไรมาบ้าง เค้าก็คงไม่ไว้ใจเรา เพราะเราทำงานที่ตลาดแจกบัตรรับบัตรตลอดเวลา ให้ใส่เงิน และหยิบบัตรคืนบัตรเองในตะกร้า มันก็สบายใจทั้งสองฝ่าย แต่พี่ก็ใส่หน้ากากตลอดนะ ถึงแม้จะไม่ได้จับมือ แต่พี่ก็ต้องล้างมือทุกครั้งที่หยิบบัตร หรือจับเงิน” (พี่แจง (นามสมมติ), สัมภาษณ์, 17 พ.ค. 2563)

สรุปได้ว่า มาตรการล็อกดาวน์, การเว้นระยะห่างทางสังคม และแคมเปญ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” สะท้อนให้เห็นถึงการปะทะกันระหว่างระบบสุขภาพปฐมภูมิแบบรัฐ (State-primary care) กับฐานคิดเรื่องการดูแลสุขภาพตนเอง (Self-care) โดยการดูแลสุขภาพในระดับปัจเจกนี้ถือได้ว่าเป็นกระบวนการที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากความตระหนักรู้ที่สมดุลระหว่างการป้องกันโรคระบาดตามแบบรัฐ กับความสำคัญในการดูแลสุขภาพตนเอง เป็นการผสมผสานระหว่างพื้นที่ทางความคิด หรือ “จิตสำนึกใหม่” เข้ากับกลไกเชิงอำนาจของรัฐ โดยกลุ่มผู้ค้าในตลาดสดฯ ได้เรียนรู้ และตระหนักถึงอำนาจของตนเอง ผ่านความสำคัญของการดูแลสุขภาพของตัวเอง เพื่อให้เพื่อบรรลุเป้าหมายใหม่ในชีวิตในฐานะของการเป็นกลุ่มผู้ค้าในตลาดสดฯ ที่ต้องการขายของ เพื่อหารายได้ ซึ่งภาวะการเจ็บป่วยจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้ วิธีคิด และจิตสำนึกใหม่นี้ ทำให้กลุ่มผู้ค้าในตลาดสดฯ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับสุขอนามัยของตนเอง ซึ่งการดูแลตนเองเป็นการปฏิบัติกิจกรรมที่บุคคลริเริ่มและกระทำเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองในการดำรงชีวิต บนพื้นฐานของความต้องการมีสุขภาพแข็งแรง และมีความเป็นอยู่ที่ดี และเมื่อมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ก็สามารถขายของได้ และเมื่อขายของได้ ก็จะทำให้มีรายได้ เพื่อเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ต่อไป ในขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นการต่อรองเพื่ออยู่ร่วมกับอำนาจของรัฐได้อย่างแยบยลอีกในลักษณะหนึ่ง

การดูแลสุขภาพตนเองของกลุ่มผู้ค้าในตลาดสดแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลพิษณุโลก

 สรุปและข้อเสนอแนะ

มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ถือเป็นยุทธวิธีที่สำคัญประการหนึ่งซึ่งรัฐไทยดำเนินการเพื่อควบคุม และป้องกันโรคโควิด-19 โดยมาตรการดังกล่าวมิได้ดำเนินการอย่างโดดเดี่ยว หากแต่ได้ดำเนินการร่วมกับการใช้กลไกเชิงของรัฐอย่างหลากหลาย ทั้งในส่วนของกลไกการใช้อำนาจบังคับของรัฐ ผ่านการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และการประกาศเคอร์ฟิว หรือห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. รวมถึงการกำหนดนโยบายงดเดินทางข้ามจังหวัด ในขณะเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการครอบงำ และชี้นำทางความคิด เพื่อให้เกิดพฤติกรรมอันพึงประสงค์ในหมู่ประชาชนในการตอบรับต่อมาตรการดังกล่าว รัฐไทยได้ใช้กลไกทางอุดมการณ์ของรัฐควบคู่ไปด้วย ผ่านการผลิตสร้างชุดความรู้/ความจริงที่เรียกว่า มาตรการล็อกดาวน์ และการเว้นระยะห่างทางสังคม ที่รวมไปถึงแคมเปญ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ซึ่งถือเป็นความพยายามหนึ่งเพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนดำเนินชีวิตโดยรักษาระยะห่างระหว่างกันมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งการเก็บตัวอยู่ที่บ้าน ทำงานที่บ้าน และไม่ออกเดินทางไปไหนถ้าไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลอีกด้านหนึ่งกลับสะท้อนให้เห็นว่า มาตรการดังกล่าวที่เรียกร้อง และขอความร่วมมือให้ประชาชนหยุดอยู่บ้าน ซึ่งถูกทำให้เป็น “เรื่องที่พึงกระทำเพื่อช่วยชาติ” ได้ส่งผลให้เกิด ระยะห่างทางชนชั้น (Class distancing) โดยมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตในระดับน้อยมากสำหรับกลุ่มชนชั้นกลาง หรือกลุ่มผู้มีรายได้ที่สามารถหยุดอยู่บ้านได้ และเมื่อพิจารณาลงลึกไปถึงระดับกิจกรรมการใช้ชีวิตระหว่างการกักตัวตามมาตรการดังกล่าวแล้ว จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นลักษณะกิจกรรมสันทนาการ เพื่อความสนุก เพื่อความบันเทิง หรือเป็นการทำงานที่บ้านโดยใช้คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เนต และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงรสนิยมของชั้นกลางตามฐานคิดแบบลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism)

ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง มาตรการดังล่าวนั้นกลับทำให้กลุ่มชนชั้นล่าง กลุ่มคนจน หรือกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำต้องประสบการปัญหาการดำเนินชีวิตอย่างหนักมากกว่าคนในฐานะอื่นๆ ที่เป็นผลมาจาก “การไม่ถูกนับรวม” (Exclusion) ให้อยู่มาตรการดังกล่าว หรือพูดอีกทางหนึ่งได้ว่า “ความเหลื่อมล้ำ” ทั้งในทางเศรษฐกิจ และในเชิงการมีส่วนร่วมในตัวนโยบาย ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนยากจนต้องดิ้นรนในช่วงเวลาที่ไวรัสระบาดอย่างหนัก ทั้งจากปัญหาด้านการเข้าถึงระบบสาธารณสุข และด้านปากท้องที่ต้องหาหนทางดิ้นรน เพื่อประทังชีวิตอยู่ต่อไปในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ หลากหลายอาชีพที่ไม่สามารถหยุดทำงานเพื่ออยู่บ้านได้ รวมถึงกลุ่มอาชีพที่ต้องได้รับผลกระทบ ต้องขาดรายได้จากมาตรการปิดเมือง ปิดห้างร้าน หรือสถานประกอบการจำนวนมาก ตลอดจนต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะกลายเป็นผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 เพราะต้องออกไปทำมาหากินในทุกๆ วัน ตลอดจนยังต้องเสี่ยงที่จะต้องได้รับคำติฉินนิทาในฐานะของคนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับ และบรรทัดฐานใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นและกลายเป็นกลุ่มผู้มีสถานะรองในที่สุด

กระนั้น บทความนี้เสนอว่า “ไม่มีใครถูกทำให้อยู่ในสถานะรองหรือถูกกดขี่อย่างถาวร” (Nobody can be subalterned or oppressed permanently)” โดยผู้เขียนหยิบยกกรณีของกลุ่มผู้ค้าในตลาดสดในเขตเทศบาลพิษณุโลกถือขึ้นมาเพื่ออธิบายถึงปรากฎการณ์ของการไม่ยอมจำนนที่แสดงให้เห็นถึง การต่อต้าน ขัดขืน และต่อรองกับอำนาจรัฐที่ดำเนินไปในลักษณะของการ “ปฏิวัติความคิดของตนเอง” ผ่านการสร้างกระบวนการเรียนรู้ หรือเกิดสำนึกใหม่ ด้วยประสบการณ์ และทักษะการเอาตัวรอดในชีวิตประจำวัน (Survival Skill) เพื่อปรับตัว และอยู่รอดภายใต้สภาวะการถูกทำให้อยู่ในสถานะรองนั้นๆ ทั้งในส่วนของ “ความตระหนักรู้” (Awareness) ในระดับความคิด ผ่านการให้ความหมายของคำว่า “จิตสำนึกสาธารณะแบบรัฐ” สู่ “จิตสำนึกสาธารณะแบบปัจเจก” ที่เน้นไปถึง “ความรับผิดชอบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของครอบครัวพวกเขาเอง” รวมถึงการใช้เครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมของกลุ่มผู้ค้าในตลาดสดฯ เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมช่องทางการสื่อสาร และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน ระหว่างกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า, กลุ่มผู้ซื้อ และรัฐ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปรับตัว เพื่อความอยู่รอด ตลอดจนการสะท้อนให้เห็นถึง การมี “จิตสำนึกใหม่” ผ่านฐานคิดเรื่องการดูแลสุขภาพตนเอง (Self-care) ที่เกิดจากการได้เรียนรู้ และตระหนักถึงอำนาจของตนเอง เพื่อต่อรองกับรัฐไทยในการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพของตัวเอง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายใหม่ในชีวิตในฐานะของการเป็นกลุ่มผู้ค้าในตลาดสดฯ ที่ว่า “ทำอย่างไรไม่ให้ป่วย?” คือ “ต้องไม่ป่วย” และสามารถทำงานนอกบ้าน ขายของ เพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัวให้ได้เหมือนเดิม “อย่างเป็นปกติ”

บทความนี้เสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและในเชิงปฏิบัติว่า ในการดำเนินนโยบาย หรือมาตรการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อคนในวงกว้าง รัฐไทยไม่ควรดำเนินการเฉพาะมาตรการที่เน้นการบังคับ ควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำทางความคิดประชาชนเท่านั้น หากแต่ต้องควรตระหนักถึง “ความเท่าเทียมกัน” ในมิติของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นทางสุขภาพ การกำหนดนโยบาย และแนวปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ หรือโยบายและกฎหมายที่มีลักษณะแบ่งแยกและกีดกันทำให้บุคคลเหล่านี้กลายเป็นคนอื่นหรือสิ่งอื่นที่ไม่เข้าพวก จะทำให้เขาเหล่านี้ หลบหนี และหลบซ่อนในพื้นที่ที่ทางราชการไทยไม่สามารถเข้าไปได้ ภาวะดังกล่าวนี้จะทำให้การควบคุม และป้องกันโรค หรือปัญหาต่างๆ เกิดขึ้น ขยายตัว และลุกลาม ซึ่งสามารถส่งผลกระทบไปในวงกว้างได้ ดังนั้น รัฐไทยควรต้องจัดระบบบริการสุขภาพทั้งการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรคที่เหมาะสมตามหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อให้นโยบายหรือมาตรการของรัฐได้รับการตอบสนองจากประชาชนอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง

 ———————————————————————————————————————- 

บรรณานุกรม

 ภาษาไทย

 กมเลศ โพธิกนิษฐ. (2561). วาทกรรมสุขภาพและสภาวะการถูกกดทับในแรงงานข้ามชาติ. (วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต) พิษณุโลก: มหาวิทยาลัยนเรศวร.

 ก้าวหน้า พงศ์พิพัฒน์. (2020). โควิด-19: เมื่อคนเลือกฆ่าตัวตายเพราะไร้ทางออกเรื่องปากท้องในภาวะปิดเมือง. สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-52562321

 กาสัก เต๊ะขันหมาก. (2553). หลักการวิจัยทางสังคมศาสตร์. กรุงเทพฯ: สุวีริยาสาส์น. 

กิตติพร ใจบุญ. (2549). ตลาดกับวิถีชีวิต: บทสํารวจเบื้องต้นเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องตลาดในสังคมไทย. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

 ชัยยศ ยงค์เจริญชัย. (2020). โควิด-19: เมื่อพนักงานบริการทางเพศเอื้อมไม่ถึงโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน”. สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก https://www.bbc.com/thai/52253353

 ชัยยศ ยงค์เจริญชัย. (2020). ไวรัสโคโรนา: ชะตากรรมของชาวชุมชนคลองเตยท่ามกลางการระบาดของโควิด-19. สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-52074733

 ทวีศักดิ์ เผือกสม. (2545). โรงพยาบาลกับการปกครอง : พื้นที่ในนโยบายกระทรวงสาธารณสุขและความจริงในเรื่องการดูแลสุขภาพในสังคมไทย กรณีศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช. (รายงานผลการวิจัย). สงขลา: มหาวิทยาลัยทักษิณ. 

 ไทยรัฐออนไลน์. (2563). ดาราพร้อมใจรณรงค์ “อยู่บ้านเพื่อชาติ” หยุดเชื้อโควิด. สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก https://www.thairath.co.th/entertain/news/1804921

 แนวหน้า. (2563). ดารา’ช่อง 3’ขานรับ’อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ’ ‘โป๊บ-เบลล่า-เกรท-ญาญ่า’นำทีมชวนคนไทยห่างไกล’โควิด-19’. สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก https://www.naewna.com/entertain/483072

 แนวหน้า. (2563). เสี่ยงโรคหรืออดตาย! ‘ชะตาที่ยากจะเลี่ยง’ของคนจน’กรุงเทพ’ ในวิกฤติ‘โควิด-19. สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 จาก https://www.naewna.com/inter/481072

 ผู้จัดการออนไลน์. (2563). 4 กิจกรรมสร้างสุขจาก “ทวิตเตอร์” เมื่อต้องอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติสู้ภัยโควิด-19. สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก https://mgronline.com/travel/detail/9630000038463

 พชร สูงเด่น. (2019). ‘ตลาดชุมชน’ เป็นกระจกสะท้อนคุณภาพชีวิตและประตูต้อนรับผู้มาเยือน. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก https://adaybulletin.com/life-citytales-public-markets/42305

 พริสม์ จิตเป็นธม. (2020). โควิด-19 : ‘เราไม่ทิ้งกัน’ อาจยังไม่เป็นจริง เมื่ออาชีพหลักคนตาบอดกระทบหนัก. สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก https://www.bbc.com/thai/52336652

 เพชรี จงกำโชค. (2528). ตลาดอาหารสดในกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 โพสต์ทูเดย์. (2563). ‘ห่างก่อน’ ระยะห่างทางสังคม Social Distancing มีไว้ทำไมกัน?. สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 จาก https://www.posttoday.com/life/work-life-balance/618446

 ยงศักดิ์ ตันติปิฎก (2550). การแพทย์ไทย: วาทกรรมสร้างรัฐชาติ วิทยาศาสตร์ และภูมิปัญญา. ใน โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ (บรรณาธิการ), สุขภาพไทย วัฒนธรรมไทย (หน้า 59-112). นนทบุรี: สํานักวิจัยสังคมและสุขภาพ.

 ยศ สันตสมบัติ. (2543). หลักช้าง: การสร้างใหม่ของอัตลักษณ์ไทในใต้คง. กรุงเทพฯ: โครงการวิถีทรรศน์.

 รมย์รัมภา เริ่มรู้. (2563). พรก.ฉุกเฉิน – ล็อคดาวน์ บจ.ไทย ทำใจเตรียมรับผลกระทบ. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก  https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/872411

 รัฐบาลไทย. (2563). เรียนรู้สู้โควิด-19. สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 จาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/27635

 รัฐบาลไทย. (2563). สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 7 เมษายน 2563. สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/28560

 ราชกิจจานุเบกษา, (2563). ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 5. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนพิเศษ 102 ง วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 หน้า 1-3.

 ราชกิจจานุเบกษา. (2562). พระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 56ก วันที่ 30 เมษายน 2562 หน้า 165-185.

 ราชกิจจานุเบกษา. (2563). การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนพิเศษ 69 ง วันที่ 25  มีนาคม 2563 หน้า 1.

 วัชรพล พุทธรักษา. (2559). บทบรรณาธิการ II ว่าด้วยลัทธิมาร์กซ์/มาร์กซิสม์ (Marxism). วารสารสังคมศาสตร์. 12(2). 11-18.

 ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค. (2563). กรมควบคุมโรค แนะประชาชนเพิ่มระยะห่างทางสังคม “Social Distancing” กับ 8 วิธี ป้องกันโรคโควิด-19. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=12278&deptcode=brc&news_views=1319

 ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคไวรัสโคโรนา 19. (2563). รายงานข่าวกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 2019) ประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 สืบค้นเมื่อ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/file/news/news_red047_160263.pdf?fbclid=IwAR2fDETNEYjw6_XLgLjY-3ppa5YxV76cWXS1wlfN5LQvD6QamBoZHGRZTfA

 ศูนย์สื่อสารสาธารณะ กรมอนามัย. (2563). กรมอนามัย เข้ม Social Distancing ‘บุคคล-องค์กร-ชุมชน’ ลดแพร่เชื้อ COVID-19. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/social-distancing-070463-01/

 สมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์. (2549). ตลาดในชีวิต ชีวิตในตลาด. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย. (2563). ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง ห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว. สืบค้นเมื่อ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก https://www.airports.go.th/upload/download/file_c5acae5e780fcd637bd4271771fd65b6.pdf

 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย. (2563). ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง ห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 2). สืบค้นเมื่อ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก https://www.airports.go.th/upload/download/file_1e02b3ba33a5832f12edee9380d74283.pdf

 สำนักนายกรัฐมนตรี. (2563). คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 76/2563 เรื่อง จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19). สืบค้นเมื่อ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก https://media.thaigov.go.th/uploads/document/66/2020/03/pdf/Doc_20200314193011000000.pdf

 สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. (2563). รายงานข่าวกรณีโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ( Novel Coronavirus;2019-nCoV) ประจำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563. สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 จาก https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/04/138013

 เสาวณี จันทะพงษ์, ทศพล ต้องหุ้ย, รัตติยา ภูละออ และมนทกานต์ ฉิมมามี. (2563). COVID-19: Social Distancing และคลื่นอพยพของประชากรจากมิติสังคมวิทยา: พลังไทย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”. สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก  https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/DocLib_/Article_31Mar2020.pdf

 อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, บุญเลิศ วิเศษปรีชา, ประภาส ปิ่นตบแต่ง, สมชาย ปรีชาศิลปกุล, ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์, ธนิต โตอดิเทพย์ และธนพฤกษ์ ชามะรัตน์. (2563). สรุปผลการสำรวจ ‘คนจนเมืองในภาวะวิกฤต COVID-19’ และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก https://www.tcijthai.com/news/2020/18/watch/10151

 amarintv. (2563). คนบันเทิง ร่วมรณรงค์ให้ประชาชน อยู่บ้าน! หยุดเชื้อ! เพื่อชาติ! เพื่อหมอ!. สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก https://www.amarintv.com/news/detail/24370

 BBC ไทย. (2020). ไวรัสโคโรนา: ผู้ป่วยโควิด-19 คนไทย เสียชีวิตรายแรก. สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-51694727

 covid-19.kapok. (2563). รัฐบาลขอสังคมร่วมใจ #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ด้านโซเชียลให้เสียงตอบรับจนติดเทรนด์. สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก  https://covid-19.kapook.com/view222650.html

 iLaw. (2563). พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ: ออกข้อกำหนดใหม่ 2 ฉบับ คงเคอร์ฟิว แต่ให้เปิดบางสถานที่. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก https://www.ilaw.or.th/node/5645

 Ippoodom, T. (2020). Social Distancing มีราคาที่ต้องจ่าย: เมื่อความเหลื่อมล้ำทำให้คนจนแบกรับการกักตัวไม่ไหว. สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก https://thematter.co/social/social-distance-cost-poverty/105284?fbclid=IwAR0X8K53dPwhf5Ou9G6CG9r6l8GB7pnyoEw8dBP_DAvp0ATt3GDQ-nyOf1s

 Ippoodom, T. (2020). แม้วิกฤติโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อผู้คนทุกชนชั้น แต่ระดับความรุนแรงที่คนต่างฐานะต้องเจอนั้นย่อมไม่เท่ากัน. สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 จาก https://thematter.co/social/social-distance-cost-poverty/105284?fbclid=IwAR0X8K53dPwhf5Ou9G6CG9r6l8GB7pnyoEw8dBP_DAvp0ATt3GDQ-nyOf1s

 Natchaphon, B. (2563). “ล็อกดาวน์” ปิดประเทศ หรือ ปิดเมือง คืออะไร มาตรการนี้มีผลดีและผลเสียอะไรบ้าง?. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก https://www.sanook.com/campus/1399731/

 Passiongen. (2020). โลกออนไลน์ทำอะไรกันเพื่อคลายเครียด เมื่อต้อง #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ. สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก https://www.passiongen.com/2020/04/whatrtheydoing/

 Sociology classroom. (2563). Social distance policy กับรสนิยมของชนชั้นกลาง. สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก https://www.facebook.com/pg/Sociology-classroom-974637529267019/posts/?ref=page_internal

 thaipbs. (2563). นายกฯ ขอคนไทยมีสุขภาพดี ร่วมกัน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”. สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก https://news.thaipbs.or.th/content/291066

 Thaipbs. (2563). ฟังเหตุผลทำไมต้อง #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ. สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก https://news.thaipbs.or.th/content/290062

 thansettakij. (2020). รัฐบาล ย้ำนโยบาย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” สกัดไวรัส. สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก https://www.thansettakij.com/content/425852

 Workpoint News. (2020). บิ๊กตู่ ขอประชาชนร่วมมือ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” โฆษกรัฐบาลแจงเหตุไม่ปิดกทม. สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จาก https://workpointnews.com/2020/03/20/pm-covid19-2/

 ภาษาอังกฤษ

 Cheung, E. (2020). Wuhan pneumonia: Thailand confirms first case of virus outside China. Retrieved March 25, 2020 from https://web.archive.org/web/20200113130102/https://www.scmp.com/news/hong-kong/health-environment/article/3045902/wuhan-pneumonia-thailand-confirms-first-case

 Crehan, K. (2016). Gramsci’s common sense: Inequality and its narratives. Durham: Duke University Press.

 Foucault, M. (1991). Governmentality. in Graham Burchell, Colin Gordon and Peter Miller (Eds.). The Foucault effect: Studies in Governmentality (pp. 87–104). Chicago: University of Chicago Press. (Original work publishes in French)

 Gramsci, A,. (1971). Selections from the prison notebook. Quintin Hoare & Goffrey Nowell (Eds. and Trans.). London: Smith, Lawrence and Wishart. (Original work publishes in Italian)

 Isoux, C. (2020). Thailand’s poor want to return to work, end lockdown. Retrieved March 25, 2020 from https://www.ucanews.com/news/thailands-poor-want-to-return-to-work-end-lockdown/87975

 Mandavilli, A. (2020). Wondering about social distancing?. Retrieved March 25, 2020 from https://www.nytimes.com/2020/03/16/smarter-living/coronavirus-social-distancing.html

 Modonesi, M. (2014).  Subalternity, antagonism, autonomy: Constructing the political subject. Adriana V. Rendón Garrido and Philip Roberts (Trans.). London: Pluto Press. (Original work publishes in Italian)

 Orem, D. (1985). Nursing: Concepts of practice (3rd Ed.). New York: McGraw-Hill.

 Orem, D. (1995). Nursing: Concepts of practice (5th Ed.). St. Louis: C. V. Mosby.

 Quinley, C. (2020). Bangkok slum residents prepare for worst as virus grips Thailand. Retrieved March 25, 2020 from https://www.aljazeera.com/news/2020/03/bangkok-slum-residents-prepare-worst-virus-grips-thailand-200322074123038.html

 Schwarzmantel, J. (2015). Routledge guides to the great books: The Routledge guidebook to Gramsci’s prison notebooks. New York: Routledge.

 Simon, R. (1982). Gramsci’s political thought an introduction. London: Lawrence and Wishart.

 Sterner S. C. (2007). A brief history of Miasmic theory. Retrieved March 25, 2020 from http://www.carlsterner.com/research/files/History_of_Miasmic_Theory_2007.pdf

 The straitstimes. (2020). How some countries are using social distancing to limit coronavirus spread. Retrieved March 25, 2020 from https://www.straitstimes.com/world/united-states/how-some-countries-using-social-distancing-to-limit-coronavirus-spread

 WHO. (2020). Basic protective measures against the new coronavirus. Retrieved 25 March 2020 from https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019/advice-for-public

 Wipatayotin, A. (2020). Thailand expands virus detection. Retrieved May 5, 2020 from https://www.bangkokpost.com/thailand/general/1862789/

 ————————————————————————————–

1  ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก

2  ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ

ผู้ดูแลระบบและจัดการเนื้อหา โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)